วันจันทร์ที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2563

แจ้งความเท็จแก่เจ้าพนักงาน ม.137

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 624/2562

ป.อ. มาตรา 137
ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง , 225
               การที่จำเลยเป็นบุคคลผู้ไม่มีสัญชาติไทย แต่แจ้งต่อผู้เสียหายให้จดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารราชการว่าจำเลย คือ อ. ซึ่งมีที่อยู่ทะเบียนบ้านกลาง ขอย้ายที่อยู่ไปยังทะเบียนบ้านเลขที่ 1/2 หมู่ 1 ตำบลเชี่ยวเหลียง อำเภอกะเปอร์ จังหวัดระนอง จากนั้น จำเลยยื่นคำขอมีบัตรประจำตัวประชาชนโดยแจ้งข้อความอันเป็นเท็จว่าเป็น อ. พร้อมยื่นสำเนาทะเบียนบ้านดังกล่าว จนผู้เสียหายหลงเชื่อออกบัตรประจำตัวประชาชนให้จำเลย เป็นการกระทำที่เกี่ยวเนื่องกันโดยมีเจตนาเดียว คือ เพื่อให้ทางราชการออกบัตรประจำตัวประชาชนให้แก่จำเลย การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยเป็นความผิดต่างกรรมจึงไม่ชอบ แม้จำเลยจะมิได้ฎีกาปัญหาดังกล่าว ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและปรับบทลงโทษจำเลยให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7386/2561
ป.อ. มาตรา 137
ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสอง
               ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่ง ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคดีส่วนอาญาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46 ซึ่งเมื่อข้อเท็จจริงในคดีส่วนอาญาที่ถึงที่สุด แม้จะไม่ได้ลงโทษจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ในความผิดฐานปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอม เนื่องจากฟังได้ว่า ลายมือชื่อในช่องผู้มอบอำนาจในหนังสือมอบอำนาจเป็นลายมือชื่อที่แท้จริงของโจทก์ แต่ทางพิจารณากลับได้ความว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมกันนำหนังสือมอบอำนาจที่มีลายมือชื่อโจทก์และข้อความซึ่งไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ ไปใช้อ้างแสดงซึ่งอาจเป็นการกระทำความผิดฐานปลอมเอกสารโดยการปลอมข้อความตาม ป.อ. มาตรา 264 วรรคสอง ได้ แต่เหตุที่ไม่ได้ลงโทษในความผิดฐานนี้เพราะข้อเท็จจริงที่ได้ในการพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงในคำฟ้อง ศาลจึงไม่อาจลงโทษในความผิดฐานร่วมกันปลอมเอกสารได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสอง มิใช่ว่าข้อเท็จจริงฟังไม่ได้เสียทีเดียวว่าไม่มีการปลอมเอกสาร ทั้งยังได้ลงโทษจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงาน และฐานแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารราชการ โดยการแจ้งข้อความอันเป็นเท็จของจำเลยที่ 1 ทำให้เจ้าพนักงานที่ดินหลงเชื่อว่าโฉนดได้สูญหายไปจริง จึงออกใบแทนโฉนดที่ดินทั้งสองฉบับ และต่อมาจำเลยที่ 1 ได้ใช้ใบแทนโฉนดที่ดินดังกล่าวเป็นหลักฐานในการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้ง 2 แปลงจากของโจทก์ เป็นของจำเลยที่ 1 แล้วจำเลยที่ 1 ได้โอนขายที่ดินทั้ง 2 แปลงให้แก่บุคคลอื่นไปอีกทอดหนึ่ง
               ดังนี้ การออกใบแทนโฉนดที่ดินของเจ้าพนักงานที่ดิน จึงเป็นไปโดยผิดหลง เนื่องจากหลงเชื่อการแจ้งข้อความอันเป็นเท็จของจำเลยที่ 1 และเมื่อข้อเท็จจริงแห่งคดีรับฟังได้ว่า โฉนดที่ดินทั้ง 2 แปลง ดังกล่าว อยู่ในความยึดถือครอบครองของโจทก์มาโดยตลอดและไม่ได้สูญหายไป ใบแทนโฉนดที่ดินทั้งสองฉบับที่จำเลยที่ 1 นำไปใช้จนก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ จึงเป็นใบแทนโฉนดที่ดินที่ออกมาโดยมิชอบด้วยกฎหมาย และมีเหตุให้ต้องเพิกถอนใบแทนโฉนดที่ดินทั้งสองฉบับ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  1237/2544
ป.อ. มาตรา 137, 267
               ขณะที่จำเลยจดทะเบียนสมรสกับ ส. ในวันที่ 10 สิงหาคม 2531 จำเลยไม่มีคู่สมรสเพราะจำเลยจดทะเบียนหย่ากับ ค. แล้วตั้งแต่วันที่ 4 กรกฎาคม 2515 จึงไม่เป็นการฝ่าฝืนเงื่อนไขการสมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1452
               การที่จำเลยไม่มีคู่สมรสอยู่ในขณะที่จดทะเบียนสมรส แม้จำเลยจะแจ้งว่าจำเลยเคยสมรสแต่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสก็มีผลอย่างเดียวกัน ว่าจำเลยไม่มีคู่สมรสในขณะที่จำเลยจดทะเบียนสมรสกับ ส. นั่นเอง การที่นายทะเบียนจดทะเบียนสมรสให้จำเลยกับ ส. โดยเชื่อว่าจำเลยไม่เคยสมรสมาก่อน จึงไม่อาจทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหาย และไม่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน จำเลยจึงไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137 และมาตรา 267

วันจันทร์ที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2560

จัดเรียงบทความ

ความผิดเกี่ยวกับการปกครอง
ความผิดต่อเจ้าพนักงาน (มาตรา 136 - 146)

ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ (มาตรา 147 - 166)

ความผิดเกี่ยวกับการยุติธรรม
ความผิดต่อเจ้าพนักงานในการยุติธรรม (มาตรา 167 - 199)
               -  ผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จ ม.172 , 173
               -  ไม่ผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จ ม.172 , 173
               -  แจ้งความเท็จ ม.172 , ทำพยานหลักฐานเท็จ ม.179
               -  นำสืบหรือแสดงพยานหลักฐานอันเป็นเท็จ ม.180
               -  หลบหนีจากที่คุมขัง ม.190

ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม (มาตรา 200- 205)
               -  การใช้ดุลยพินิจในการสั่งคดี ม.200

วันศุกร์ที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

ต่อสู้ขัดขวางในขณะตรวจค้น ม.138

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8722/2555
ป.วิ.อ. มาตรา 93
ป.อ. มาตรา 136, 138 วรรคสอง, 367
              ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 93 บัญญัติว่า “ห้ามมิให้ทำการค้นบุคคลใดในที่สาธารณสถาน เว้นแต่พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจเป็นผู้ค้น ในเมื่อมีเหตุอันควรสงสัยว่าบุคคลนั้นมีสิ่งของในความครอบครองเพื่อจะใช้ในการกระทำความผิด หรือซึ่งได้มาโดยการกระทำความผิด หรือซึ่งมีไว้เป็นความผิด” แสดงว่า พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจจะทำการค้นบุคคลใดในที่สาธารณสถานไม่ได้ เว้นแต่ จะเข้าข้อยกเว้นของกฎหมายดังกล่าว
              เมื่อข้อเท็จจริงจากภาพถ่ายและแผนที่บริเวณสถานที่เกิดเหตุปรากฏว่า บริเวณที่เกิดเหตุอยู่บนถนนสุทธาวาส ไม่ได้อยู่หลังซอยโรงถ่านตามที่สิบตำรวจโทกรุงและสิบตำรวจตรีไพรัตน์อ้างว่ามีอาชญากรรมประเภทความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พระราชบัญญัติอาวุธปืน และความผิดเกี่ยวกับทรัพย์เป็นประจำเกิดขึ้นประจำแต่อย่างใด และจำเลยไม่มีท่าทางเป็นพิรุธ คงเพียงแต่นั่งโทรศัพท์อยู่เท่านั้น การที่สิบตำรวจโทกรุงและสิบตำรวจตรีไพรัตน์อ้างว่าเกิดความสงสัยในตัวจำเลยจึงขอตรวจค้น โดยไม่มีเหตุผลสนับสนุนว่าเพราะเหตุใดจึงเกิดความสงสัยในตัวจำเลย จึงเป็นข้อสงสัยที่อยู่บนพื้นฐานของความรู้สึกเพียงอย่างเดียว ถือไม่ได้ว่ามีเหตุอันควรสงสัยตามกฎหมายดังกล่าวที่จะทำการตรวจค้นได้ การตรวจค้นตัวจำเลยจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย
             จำเลยซึ่งถูกกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงมีสิทธิโต้แย้งและตอบโต้เพื่อป้องกันสิทธิของตน ตลอดจนเพิกเฉยไม่ปฏิบัติตามคำสั่งใด ๆ อันสืบเนื่องจากการปฏิบัติที่ไม่ชอบดังกล่าวได้ การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ ฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานโดยใช้กำลังประทุษร้าย และฐานไม่ยอมบอกชื่อหรือที่อยู่แก่เจ้าพนักงานซึ่งถามเพื่อปฏิบัติการตามกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9949/2553
ป.อ.  การป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย (มาตรา 68)
ป.วิ.อ. มาตรา 93 การค้นในที่สาธารณสถาน
               จากคำเบิกความของผู้เสียหายปรากฏแต่เพียงว่า ผู้เสียหายแต่งกายในเครื่องแบบ มีอาวุธปืนติดตัว ขณะขับรถจักรยานยนต์สายตรวจออกตรวจท้องที่มาถึงบริเวณหน้าที่ทำการไปรษณีย์ พบจำเลยยืนอยู่กับกะเทยคนหนึ่งในบริเวณลานหน้าอาคารที่ทำการไปรษณีย์ สาขาศรีราชา ในเวลาวิกาลเท่านั้น ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่ามีเหตุอันควรสงสัยว่าจำเลยมีสิ่งของในความครอบครองเพื่อจะใช้ในการกระทำความผิด หรือซึ่งได้มาโดยการกระทำความผิด หรือซึ่งมีไว้เป็นความผิด อันจะเป็นเหตุให้เข้าตรวจค้นตัวจำเลยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 93
              การที่ผู้เสียหายเข้าตรวจค้นตัวจำเลยจึงเป็นการมิชอบ เมื่อจำเลยไม่ยินยอมให้ตรวจค้นโดยใช้มือปัดป้องและวิ่งหลบหนีไปที่รถจักรยานยนต์และพยายามจะขับรถจักรยานยนต์หลบหนี ผู้เสียหายวิ่งติดตามไปทันและดึงกุญแจรถจักรยานยนต์ออก จากนั้น จำเลยลงจากรถจักรยานยนต์แล้ววิ่งไปที่บริเวณด้านหลังที่ทำการไปรษณีย์ ผู้เสียหายเข้ายึดรถจักรยานยนต์ขับไปจอดหน้า ป.คอนโดมิเนียม โดยอ้างว่า จะนำไปฝากพนักงานรักษาความปลอดภัยไว้ก็ตาม ก็ไม่ปรากฏว่ายึดเพื่อเหตุใด อันจะเป็นการยึดได้ตามกฎหมาย การยึดไว้เช่นนี้ จึงเป็นการไม่ชอบเช่นกัน
              จำเลยซึ่งเป็นผู้ครอบครองรถจักรยานยนต์ย่อมมีสิทธิติดตามเอาคืนได้ทันที การที่จำเลยหวนกลับมาและเห็นผู้เสียหายนั่งคร่อมรถจักรยานยนต์ของจำเลยอยู่ แล้วใช้ไม้ของกลางที่หามาได้ในบริเวณที่เกิดเหตุตีผู้เสียหายที่ขอบหมวกไฟเบอร์กับบริเวณกกหู และตีบริเวณกลางหลังและที่แขนซ้ายของผู้เสียหายเป็นเหตุให้กระดูกแขนซ้ายหักในขณะนั้น เพื่อจะเอารถคืนในขณะที่ผู้เสียหายมีอาวุธปืน การที่จำเลยใช้ไม้ตีผู้เสียหาย จึงเป็นการป้องกันทรัพย์สินโดยมีเหตุผลสมควร

วันจันทร์ที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2559

พยาบาลละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ม.157

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1886/2523
ป.อ. มาตรา 56 , 157
ป.วิ.อ. มาตรา  219
           จำเลยรับราชการเป็นพยาบาลประจำโรงพยาบาล ได้ตรวจชันสูตรบาดแผลของ เด็กหญิง พ. ซึ่งถูกข่มขืนกระทำชำเรา ละเว้นไม่ส่งซับน้ำในช่องคลอดของ เด็กหญิง พ. ไปหาเชื้อของน้ำอสุจิตามระเบียบ และกรอกข้อความลงในรายงานผลการตรวจชันสูตรเอาเอง กับได้ส่งมอบรายงานผลการตรวจให้พนักงานสอบสวนไป เด็กหญิง พ. ย่อมเป็นผู้เสียหายและได้รับความเสียหายเพราะการกระทำของจำเลยแล้ว จำเลยมีความผิดตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157
            ในคดีที่ฎีกาได้แต่ปัญหาข้อกฎหมาย เมื่อปรากฏว่าจำเลยอายุ 57 ปี รับราชการเป็นพยาบาลไม่เคยกระทำผิดมาก่อนโดยพฤติการณ์และเหตุผลแห่งรูปคดีมีเหตุสมควรศาลฎีกาย่อมมีอำนาจเปลี่ยนแปลงดุลพินิจในการวางโทษจำคุกที่ศาลอุทธรณ์กำหนดไว้โดยให้รอการลงโทษไว้ได้

วันพฤหัสบดีที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2559

ตรวจรับงานจ้างโดยมิชอบ ม.157

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  ๕๕๗๕ - ๕๕๘๒ /๒๕๕๔ 
ป.อ. มาตรา ๑๕๗ , ๑๖๒ (๑)
ป.วิ.อ. มาตรา ๑๙๒ วรรคหนึ่ง
              ขณะเกิดเหตุ จำเลยที่ ๑ ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริหารองค์การบริหารส่วนตำบลผู้เสียหาย มีฐานะเป็นเจ้าพนักงานตาม ป.วิ.อ. ตาม พ.ร.บ.สภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบลฯ มีคำสั่งอนุมัติให้จ่ายเงินตามฎีกาเบิกเงินในโครงการ โดยไม่มีการวางท่อระบายน้ำตามสัญญา และไม่มีการแก้ไขสัญญาให้ถูกต้อง ถือเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหายตาม ป.อ. มาตรา ๑๕๗ แต่เมื่อจำเลยที่ ๑ ไม่มีหน้าที่ทำเอกสารหรือกรอกข้อความในเอกสาร จึงไม่มีความผิดตาม ป.อ. มาตรา ๑๖๒ (๑)
              จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๘ ได้รับแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการควบคุมงานและกรรมการตรวจการจ้าง มีหน้าที่รับผิดชอบในการตรวจและควบคุมงานให้เป็นไปตามแบบรูปรายการละเอียดและข้อกำหนดในสัญญาจ้างแต่ละโครงการ เมื่องานในแต่ละโครงการทำไม่เสร็จครบถ้วนตามสัญญา จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๘ กลับลงลายมือชื่อในใบควบคุมงานและเอกสารการตรวจการจ้างเป็นเท็จ ว่ามีการทำงานถูกต้องครบถ้วนตามสัญญา การกระทำดังกล่าวเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา ๑๕๗ และมาตรา ๑๖๒ (๑)
             โจทก์แยกฟ้องคดีเป็นแปดสำนวน และมิได้ขอให้นับโทษจำเลยในแต่ละสำนวนติดต่อกัน แม้จะรวมการพิจารณาและพิพากษาคดีทั้งแปดสำนวนเข้าด้วยกัน ก็นับโทษจำเลยในแต่ละสำนวนติดต่อกันไม่ได้ เพราะเป็นการเกินคำขอไม่ชอบตาม ป.วิ.อ. มาตรา ๑๙๒ วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  ๙๓๖๘/๒๕๕๒
ป.อ. มาตรา ๘๓ , ๘๖ , ๑๕๗
ป.วิ.อ. มาตรา ๑๙๒
               จำเลยที่ ๑ รับราชการตำแหน่งหัวหน้าส่วนโยธา องค์การบริหารส่วนตำบลหัวลำ ช่วยราชการองค์การบริหารส่วนตำบลซับจำปา ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้ควบคุมงาน จำเลยที่ ๒ เป็นกำนันตำบลซับจำปา และเป็นกรรมการบริหารองค์การบริหารส่วนตำบลซับจำปา ได้รับแต่งตั้งเป็นประธานกรรมการตรวจการจ้าง จำเลยทั้งสองจึงมีหน้าที่ตรวจผลการปฏิบัติและตรวจรับงานตามสัญญาจ้าง โดยจำเลยทั้งสองทราบแต่แรกแล้วว่างานจ้างเหมาก่อสร้างถนนตามสัญญามีความยาว ๑,๓๕๐ เมตร
              การที่จำเลยที่ ๑ ไม่ออกไปตรวจสอบการก่อสร้าง ทำให้เกิดความเสียหาย เพราะหากจำเลยที่ ๑ ไปตรวจย่อมทราบได้ว่าถนนที่ก่อสร้างเสร็จมีความยาวเพียงประมาณ ๑,๐๒๔ เมตร การที่จำเลยทั้งสองปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทำหลักฐานเท็จด้วยเจตนาพิเศษที่จะก่อให้เกิดความเสียหายแก่องค์การบริหารส่วนตำบลซับจำปา และเป็นการกระทำโดยทุจริต ทำให้องค์การบริหารส่วนตำบลซับจำปาต้องจ่ายเงินค่าจ้างเกินไป และมีผู้ได้ประโยชน์อันมิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายเป็นค่าก่อสร้างที่เกินไปจากความจริง แม้ภายหลังจำเลยที่ ๒ จะนำเงินค่ารับจ้างส่วนที่รับเกินไปมาคืน ก็เนื่องมาจากองค์การบริหารส่วนตำบลซับจำปาแจ้งเรียกเงินคืน จำเลยทั้งสองจึงมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา ๑๕๗  จำเลยที่ ๒ มิได้เป็นเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ไม่อาจเป็นตัวการในการกระทำความผิดร่วมกับจำเลยที่ ๑ แต่การที่จำเลยที่ ๒ จัดทำบันทึกประจำวันและผลการปฏิบัติงานฉบับใหม่มาให้จำเลยที่ ๑ ลงชื่อย่อมลงโทษจำเลยที่ ๒ ฐานเป็นผู้สนับสนุนจำเลยที่ ๑ ในการกระทำผิดได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  ๗๗๗๖/๒๕๔๐
ป.อ. มาตรา ๑๕๒ , ๑๕๗
              จำเลยที่ ๑ เป็นปลัดสุขาภิบาลได้รับคำสั่งแต่งตั้งจากสุขาภิบาล ให้เป็นผู้ตรวจงานจ้าง ในการจ้างเหมาขุดลอกและล้างทางระบายน้ำในเขตสุขาภิบาล จำเลยที่ ๑ ได้เข้าดำเนินการขุดลอกและล้างทางระบายน้ำ โดยใช้คนงานของสุขาภิบาลทำงานให้จำเลยที่ ๑ เป็นผู้มีหน้าที่จัดการและดูแลกิจการของสุขาภิบาล เมื่อจำเลยที่ ๑ เข้ามีส่วนได้เสียเพื่อประโยชน์สำหรับตนเองและผู้อื่นเนื่องด้วยกิจการดังกล่าว โดยจ่ายค่าจ้างคนงานเพียง ๑,๗๕๐ บาท แต่เบิกเงินค่าจ้างตามสัญญาไป ๒,๙๐๐ บาท เป็นเหตุให้สุขาภิบาลได้รับความเสียหาย การกระทำของจำเลยที่ ๑ จึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๒ , ๑๕๗ อันเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ต้องลงโทษตามมาตรา ๑๕๒ ซึ่งเป็นบทหนัก
              จำเลยทั้งสี่ซึ่งเป็นคณะกรรมการตรวจการจ้าง ทำหลักฐานใบตรวจรับงานจ้างเสนอประธานกรรมการสุขาภิบาลว่าผู้รับจ้างได้ก่อสร้างถนนลาดยางแบบ ๒ ชั้น เสร็จเรียบร้อยและถูกต้องตามสัญญาแล้ว เห็นควรเบิกจ่ายเงินค่าจ้างให้แก่ผู้รับจ้าง ทั้ง ๆ ที่จำเลยทั้งสี่ไม่ได้ตรวจสอบการทำงานของผู้รับจ้าง จึงเป็นการไม่ปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย อันเป็นการผิดระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการพัสดุของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ.๒๕๒๘ แม้ว่าการตรวจการก่อสร้างถนนลาดยางจะต้องอาศัยผู้มีความรู้เป็นพิเศษเนื่องจากมองดูด้วยตาจะไม่สามารถรู้ได้ว่ามีการลาดยาง ๑ ชั้น หรือ ๒ ชั้น แต่ถ้าจำเลยทั้งสี่ออกไปควบคุมดูแลและเอาใจใส่ในการตรวจสอบตามขั้นตอน ก็ย่อมสามารถให้ผู้รับจ้างปฏิบัติให้ถูกต้องครบถ้วนตามสัญญาและแบบแปลนได้ การที่ปล่อยให้ผู้รับจ้างก่อสร้างถนนโดยลาดยางเพียงชั้นเดียว เป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเป็นเหตุให้สุขาภิบาลอนุมัติให้จ่ายค่าจ้างแก่ผู้รับจ้างไปมากกว่าปริมาณของงานที่ได้รับ จำเลยทั้งสี่จึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๗