วันจันทร์ที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2563

แจ้งความเท็จแก่เจ้าพนักงาน ม.137

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 624/2562

ป.อ. มาตรา 137
ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง , 225
               การที่จำเลยเป็นบุคคลผู้ไม่มีสัญชาติไทย แต่แจ้งต่อผู้เสียหายให้จดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารราชการว่าจำเลย คือ อ. ซึ่งมีที่อยู่ทะเบียนบ้านกลาง ขอย้ายที่อยู่ไปยังทะเบียนบ้านเลขที่ 1/2 หมู่ 1 ตำบลเชี่ยวเหลียง อำเภอกะเปอร์ จังหวัดระนอง จากนั้น จำเลยยื่นคำขอมีบัตรประจำตัวประชาชนโดยแจ้งข้อความอันเป็นเท็จว่าเป็น อ. พร้อมยื่นสำเนาทะเบียนบ้านดังกล่าว จนผู้เสียหายหลงเชื่อออกบัตรประจำตัวประชาชนให้จำเลย เป็นการกระทำที่เกี่ยวเนื่องกันโดยมีเจตนาเดียว คือ เพื่อให้ทางราชการออกบัตรประจำตัวประชาชนให้แก่จำเลย การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยเป็นความผิดต่างกรรมจึงไม่ชอบ แม้จำเลยจะมิได้ฎีกาปัญหาดังกล่าว ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและปรับบทลงโทษจำเลยให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7386/2561
ป.อ. มาตรา 137
ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสอง
               ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่ง ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคดีส่วนอาญาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46 ซึ่งเมื่อข้อเท็จจริงในคดีส่วนอาญาที่ถึงที่สุด แม้จะไม่ได้ลงโทษจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ในความผิดฐานปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอม เนื่องจากฟังได้ว่า ลายมือชื่อในช่องผู้มอบอำนาจในหนังสือมอบอำนาจเป็นลายมือชื่อที่แท้จริงของโจทก์ แต่ทางพิจารณากลับได้ความว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมกันนำหนังสือมอบอำนาจที่มีลายมือชื่อโจทก์และข้อความซึ่งไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ ไปใช้อ้างแสดงซึ่งอาจเป็นการกระทำความผิดฐานปลอมเอกสารโดยการปลอมข้อความตาม ป.อ. มาตรา 264 วรรคสอง ได้ แต่เหตุที่ไม่ได้ลงโทษในความผิดฐานนี้เพราะข้อเท็จจริงที่ได้ในการพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงในคำฟ้อง ศาลจึงไม่อาจลงโทษในความผิดฐานร่วมกันปลอมเอกสารได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสอง มิใช่ว่าข้อเท็จจริงฟังไม่ได้เสียทีเดียวว่าไม่มีการปลอมเอกสาร ทั้งยังได้ลงโทษจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงาน และฐานแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารราชการ โดยการแจ้งข้อความอันเป็นเท็จของจำเลยที่ 1 ทำให้เจ้าพนักงานที่ดินหลงเชื่อว่าโฉนดได้สูญหายไปจริง จึงออกใบแทนโฉนดที่ดินทั้งสองฉบับ และต่อมาจำเลยที่ 1 ได้ใช้ใบแทนโฉนดที่ดินดังกล่าวเป็นหลักฐานในการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้ง 2 แปลงจากของโจทก์ เป็นของจำเลยที่ 1 แล้วจำเลยที่ 1 ได้โอนขายที่ดินทั้ง 2 แปลงให้แก่บุคคลอื่นไปอีกทอดหนึ่ง
               ดังนี้ การออกใบแทนโฉนดที่ดินของเจ้าพนักงานที่ดิน จึงเป็นไปโดยผิดหลง เนื่องจากหลงเชื่อการแจ้งข้อความอันเป็นเท็จของจำเลยที่ 1 และเมื่อข้อเท็จจริงแห่งคดีรับฟังได้ว่า โฉนดที่ดินทั้ง 2 แปลง ดังกล่าว อยู่ในความยึดถือครอบครองของโจทก์มาโดยตลอดและไม่ได้สูญหายไป ใบแทนโฉนดที่ดินทั้งสองฉบับที่จำเลยที่ 1 นำไปใช้จนก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ จึงเป็นใบแทนโฉนดที่ดินที่ออกมาโดยมิชอบด้วยกฎหมาย และมีเหตุให้ต้องเพิกถอนใบแทนโฉนดที่ดินทั้งสองฉบับ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  1237/2544
ป.อ. มาตรา 137, 267
               ขณะที่จำเลยจดทะเบียนสมรสกับ ส. ในวันที่ 10 สิงหาคม 2531 จำเลยไม่มีคู่สมรสเพราะจำเลยจดทะเบียนหย่ากับ ค. แล้วตั้งแต่วันที่ 4 กรกฎาคม 2515 จึงไม่เป็นการฝ่าฝืนเงื่อนไขการสมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1452
               การที่จำเลยไม่มีคู่สมรสอยู่ในขณะที่จดทะเบียนสมรส แม้จำเลยจะแจ้งว่าจำเลยเคยสมรสแต่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสก็มีผลอย่างเดียวกัน ว่าจำเลยไม่มีคู่สมรสในขณะที่จำเลยจดทะเบียนสมรสกับ ส. นั่นเอง การที่นายทะเบียนจดทะเบียนสมรสให้จำเลยกับ ส. โดยเชื่อว่าจำเลยไม่เคยสมรสมาก่อน จึงไม่อาจทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหาย และไม่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน จำเลยจึงไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137 และมาตรา 267