วันอังคารที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2558

แจ้งความเท็จ ม.172 ,ทำพยานหลักฐานเท็จ ม.179

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  4669/2530
ป.อ. มาตรา 172, 179
ป.วิ.อ. มาตรา 2 (7), 121, 123, 134
            จำเลยเป็นเกษตรอำเภอ ทราบจากผู้ใต้บังคับบัญชาว่า โจทก์ซึ่งเป็นผู้ช่วยเกษตรจังหวัด ได้ไปรื้อค้นสำนักงานและโต๊ะทำงานของจำเลยขณะจำเลยไม่อยู่ ปรากฏว่าเงินที่จำเลยเก็บไว้ในลิ้นชักโต๊ะทำงานสูญหายไป จำเลยย่อมมีเหตุที่จะสงสัยว่าโจทก์อาจเป็นคนร้ายลักเงินไป จึงไปแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนว่าโจทก์บุกรุกสำนักงานและลักทรัพย์ โดยแจ้งรายละเอียดและพฤติการณ์ของโจทก์พร้อมทั้งระบุด้วยว่าจำเลยทราบเรื่องจากผู้ใด
            การที่จำเลยแจ้งความดังกล่าวต่อพนักงานสอบสวนเป็นการแจ้งให้ทราบโดยชัดแจ้งแล้วว่า จำเลยได้รับทราบมาจากคำบอกเล่าของนางสาว อ. และนาง ธ. มิได้ยืนยันว่าจำเลยรู้เห็นด้วยตนเอง ข้อกล่าวหาที่ว่าโจทก์บุกรุกสำนักงาน เป็นเพียงการแสดงความเห็นไม่ใช่ยืนยันข้อเท็จจริง ฉะนั้น ถึงแม้ข้อเท็จจริงจะได้ความว่าการที่โจทก์เข้าไปในสำนักงานเกษตรอำเภอ เป็นกรณีที่โจทก์เข้าไปตรวจราชการตามอำนาจหน้าที่โดยชอบก็ตาม ก็ถือไม่ได้ว่าข้อความที่จำเลยแจ้งความกล่าวหาว่าโจทก์บุกรุกสำนักงานเป็นความเท็จ จำเลยไม่มีความผิด ตาม ป.อ. มาตรา 172
            การที่โจทก์ไปนั่งที่โต๊ะทำงานของจำเลยในขณะที่จำเลยไม่อยู่และเงินบริจาคซึ่งอยู่ในความครอบครองของจำเลยสูญหายไป จำเลยย่อมมีเหตุที่จะสงสัยว่าโจทก์อาจเป็นคนร้ายลักเงินจำนวนดังกล่าวการที่จำเลยแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนกล่าวหาว่าโจทก์ลักทรัพย์ของจำเลย โดยแจ้งรายละเอียดและพฤติการณ์ของโจทก์ตามความเป็นจริง ถึงแม้จำเลยจะไม่มีพยานหลักฐานว่าโจทก์ได้กระทำผิดตามข้อกล่าวหาของจำเลย ก็ถือไม่ได้ว่าคำแจ้งความของจำเลยเป็นความเท็จ จำเลยไม่มีความผิด
           การที่จำเลยได้ทำบันทึกเสนอต่อนายอำเภอ รายงานข้อเท็จจริงตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและรายงานการกระทำของโจทก์ตามที่ได้รับคำบอกเล่าจากนางสาว อ. และนาง ธ.  ซึ่งมีข้อความทำนองเดียวกันกับที่จำเลยแจ้งความต่อพนักงานสอบสวน ก็ถือไม่ได้ว่าบันทึกดังกล่าวเป็นการทำพยานหลักฐานอันเป็นเท็จ ตาม ป.อ. มาตรา 179
           การแจ้งข้อความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับความผิดอาญาต่อพนักงานสอบสวนซึ่งเป็นความผิดตาม ป.อ.มาตรา 172 นั้น ต้องเป็นกรณีที่ผู้แจ้งข้อเท็จจริงเป็นเท็จโดยแกล้งกล่าวข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำของผู้ถูกกล่าวหาให้ผิดไปจากความจริง ส่วนการตั้งข้อหานั้นเป็นอำนาจหน้าที่ของพนักงานสอบสวนซึ่งไม่จำเป็นต้องตั้งข้อหาตามข้อกล่าวหาของผู้แจ้งเสมอไป กรณีที่ผู้แจ้งแจ้งข้อกล่าวหาคลาดเคลื่อนจะถือว่าผู้แจ้งแจ้งข้อความอันเป็นเท็จเสมอไปหาได้ไม่

วันจันทร์ที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2558

นำสืบหรือแสดงพยานหลักฐานอันเป็นเท็จ ม.180

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  3107/2552
ป.อ. มาตรา 177, 180, 268, 90
ป.วิ.อ. มาตรา 158
              จำเลยที่ 1 ได้กระทำความผิดฐานเบิกความเท็จ พร้อมกันไปกับกระทำความผิดฐานนำสืบหรือแสดงพยานหลักฐานอันเป็นเท็จในการพิจารณาคดี และฐานใช้เอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการปลอม โดยกระทำในวันเวลาและคดีเดียวกัน การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท
              โจทก์ฟ้องข้อ 2.2 (ข้อหาใช้เอกสารปลอม) 2.3 (ข้อหานำสืบและแสดงหลักฐานเท็จ) และ 2.4 (ข้อหาเบิกความเท็จ) ว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ภาพถ่ายโฉนดเลขที่ 2601 ปลอม ประกอบคำร้องในคดีแพ่งที่จำเลยที่ 1 ร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้จำเลยที่ 1 ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 2601 โดยการครอบครองปรปักษ์ เพื่อให้ศาลชั้นต้นหลงเชื่อว่าที่ดินดังกล่าวเป็นของ ม. และมีคำสั่งให้ส่งสำเนาคำร้องให้ ม. ทำให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินไม่ทราบคำร้อง และจำเลยทั้งสองนำภาพถ่ายโฉนดปลอมดังกล่าวอ้างส่งเป็นพยานประกอบการเบิกความของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นการกระทำความผิดในเรื่องเดียวกัน แต่โจทก์แยกฟ้องเป็นรายข้อตามฐานความผิด
              แม้ในฟ้องข้อ 2.3 โจทก์จะไม่ได้บรรยายว่าประเด็นสำคัญในคดีแพ่งดังกล่าวมีว่าอย่างไร และพยานหลักฐานที่จำเลยทั้งสองร่วมกันนำสืบหรือแสดงพยานหลักฐานอันเป็นเท็จนั้นเป็นข้อสำคัญในคดีอย่างไร แต่ตามฟ้องข้อ 2.4 โจทก์ได้บรรยายฟ้องในความผิดฐานเบิกความเท็จว่า คดีแพ่งดังกล่าวมีประเด็นแห่งคดีที่ต้องพิสูจน์ว่าที่ดินโฉนดเลขที่ 2601 เป็นของ ม. จริงหรือไม่
              การที่จำเลยที่ 1 เบิกความเท็จว่า ม. เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 2601 ทำให้ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 3 หลงเชื่อว่า ม. เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ และศาลอุทธรณ์ภาค 3 มีคำสั่งให้จำเลยที่ 1 ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินโดยการครอบครองปรปักษ์บางส่วน และฟ้องข้อ 2.2 โจทก์ได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยทั้งสองนำภาพถ่ายโฉนดที่ดินปลอมเข้าเป็นเอกสารท้ายคำร้อง เพื่อให้ศาลเชื่อว่าที่ดินโฉนดเลขที่ 2601 ที่จำเลยที่ 1 ครอบครองปรปักษ์เป็นของ ม.
              เมื่ออ่านฟ้องรวมกันแล้วพอเข้าใจได้ว่าคดีแพ่งดังกล่าว มีประเด็นสำคัญแห่งคดีว่าที่ดินโฉนดเลขที่ 2601 เป็นของ ม. หรือไม่ และภาพถ่ายโฉนดที่ดินปลอมที่อ้างส่งเป็นพยานหลักฐานในข้อสำคัญแห่งคดี เพราะทำให้ศาลเชื่อว่าที่ดินตามโฉนดดังกล่าวเป็นของ ม. ฟ้องโจทก์ในความผิดฐานร่วมกันนำสืบหรือแสดงพยานหลักฐานอันเป็นเท็จในการพิจารณาคดีครบองค์ประกอบความผิดแล้ว.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  3689/2535
ป.อ. มาตรา 175, 177, 180
ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5)
              โจทก์บรรยายฟ้องว่า เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2531 เวลากลางวัน จำเลยที่ 1 นำเอาความเท็จมาฟ้องโจทก์เป็นคดีอาญาต่อศาลอาญาตามคดีหมายเลขดำที่ ช.5209/2531 ว่า โจทก์ได้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด สาขาปากคลองตลาด เลขที่ 0163240 ลงวันที่ 7 มิถุนายน 2531สั่งจ่ายเงิน 100,000 บาท ชำระหนี้แก่จำเลยที่ 1 โดยโจทก์เป็นผู้กรอกรายการและลงลายมือชื่อสั่งจ่าย ยกเว้นตรงช่องวันที่ใช้ปั๊มวันเดือนปี ซึ่งโจทก์ได้ปฏิบัติตามปกติวิสัยตลอดมาและเช็คฉบับก่อน ๆ ที่โจทก์ปฏิบัติแบบนี้เรียกเก็บเงินได้เสมอมา
             ต่อมาเมื่อจำเลยที่ 1 นำเช็คดังกล่าวไปเข้าบัญชี ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน โดยให้เหตุผลว่า "มีคำสั่งระงับการจ่าย" จำเลยที่ 1 ได้ติดตามทวงถามให้โจทก์ชำระหนี้ตามเช็คดังกล่าว แต่โจทก์เพิกเฉย และต่อมาวันที่ 3 ตุลาคม 2531 เวลากลางวัน จำเลยทั้งสองร่วมกันเบิกความเท็จต่อศาลอาญาในคดีอาญาดังกล่าว และได้นำสืบหรือแสดงพยานหลักฐานอันเป็นเท็จ โดยจำเลยที่ 1 เบิกความและนำสืบหรือแสดงพยานหลักฐานว่า เมื่อประมาณปลายเดือนเมษายน 2531 โจทก์นำเช็คธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด สาขาปากคลองตลาด ลงวันที่ 7 มิถุนายน 2531 สั่งจ่ายเงินจำนวน 100,000 บาท มาขอแลกเงินสดจากจำเลยที่ 1 ทั้งนี้ โจทก์ได้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายและกรอกรายการต่าง ๆ ต่อหน้าจำเลยที่ 1 ส่วนวันที่สั่งจ่ายได้มีการประทับมาก่อนแล้วในช่องวันที่สั่งจ่ายในเช็ค และจำเลยที่ 2 เบิกความและนำสืบหรือแสดงพยานหลักฐานว่า เมื่อประมาณปลายเดือนเมษายน 2531 ตอนบ่าย โจทก์ได้มาหาบิดาจำเลยที่ 2 แต่บิดาป่วยอยู่โรงพยาบาล โจทก์ถามหาจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 จึงไปตามจำเลยที่ 1 มาพบจำเลยที่ 2 เห็นโจทก์หยิบเช็คซึ่งได้ประทับวันที่ในช่องวันที่สั่งจ่ายในเช็ค แล้วเขียนจำนวนเงิน 100,000 บาท และลงลายมือชื่อสั่งจ่ายในเช็ค จำเลยที่ 1 รับเช็คดังกล่าวจากโจทก์ แล้วมอบเงิน 100,000 บาท ให้โจทก์ไป โดยความจริงแล้วโจทก์ไม่เคยสั่งจ่ายเช็คดังกล่าวนำไปแลกเงินสดจากจำเลยที่ 1 โจทก์มอบเช็คดังกล่าวให้แก่บิดาจำเลยทั้งสองโดยมิได้ลงวันเดือนปี เพื่อเป็นการค้ำประกัน โดยบิดาจำเลยทั้งสองตกลงว่าจะไม่นำไปเรียกเก็บเงิน จำเลยที่ 1 ไม่ใช่ผู้ทรงได้นำเช็คไปลงวันที่โดยไม่มีอำนาจ แต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน
               เห็นว่า โจทก์มิได้บรรยายเลยว่า ข้อหาที่จำเลยที่ 1 ฟ้องโจทก์เป็นคดีอาญาอันเป็นฟ้องเท็จนั้นเป็นความผิดอาญาข้อหาหรือฐานความผิดใด ทั้งคำบรรยายฟ้องในส่วนที่โจทก์คัดมาจากคำฟ้องในคดีอาญาหมายเลขดำที่ ช.5209/2531 ของศาลอาญาก็ไม่มีข้อความใดที่จำเลยที่ 1 ระบุว่าการกระทำของโจทก์เป็นการกระทำความผิดอาญาซึ่งเป็นสาระสำคัญของฟ้องในข้อหาฟ้องเท็จที่จะต้องกล่าวถึง ส่วนข้อหาเบิกความและนำสืบหรือแสดงพยานหลักฐานอันเป็นเท็จนั้น
               เมื่อไม่บรรยายว่าจำเลยทั้งสองเบิกความและนำสืบหรือแสดงพยานหลักฐานอันเป็นเท็จ ในการพิจารณาคดีในข้อหาหรือฐานความผิดใด ย่อมไม่อาจทราบได้ว่าข้อความนั้นเป็นข้อสำคัญในคดีอย่างไร ประเด็นสำคัญของคดีมีว่าอย่างไร ฟ้องของโจทก์ทั้งสามข้อหาจึงเป็นฟ้องที่ไม่ได้บรรยายถึงการกระทำที่อ้างว่าจำเลยทั้งสองได้กระทำผิดพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยทั้งสองเข้าใจข้อหาได้ดี
               แม้โจทก์ได้บรรยายเลขสำนวนคดีที่อ้างว่าจำเลยที่ 1 ฟ้องเท็จและจำเลยทั้งสองเบิกความและนำสืบหรือแสดงพยานหลักฐานอันเป็นเท็จมาในฟ้องก็ตาม แต่ข้อเท็จจริงและรายละเอียดที่ปรากฏในสำนวนคดีนั้นหาใช่ส่วนหนึ่งของคำฟ้องของโจทก์ไม่ จะนำมาประกอบคำฟ้องของโจทก์คดีนี้ให้สมบูรณ์มิได้ ฟ้องโจทก์จึงเป็นฟ้องที่ไม่สมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5)

วันพุธที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2558

ไม่ผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จ ม.172 , 173

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2465 / 2555
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 172, 173, 174 วรรคสอง, 181 (1)
            กรณีพิพาทเป็นเรื่องที่สืบเนื่องมาจากการที่โจทก์และจำเลย ต่างโต้แย้งกันในเรื่องสัญญาซื้อขายรถยนต์พิพาท ว่าเป็นสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาดหรือไม่ จึงถือเป็นการโต้แย้งสิทธิ ในสัญญาทางแพ่ง ซึ่งทั้งโจทก์และจำเลยต่างอ้างตนว่ามีสิทธิในรถยนต์คันพิพาท ดีกว่าอีกฝ่ายหนึ่ง
            ดังนั้น การที่โจทก์และนางสาว ส. ยึดรถยนต์คันพิพาทไว้ จึงมีเหตุทำให้จำเลยเข้าใจได้ว่า โจทก์และนางสาว ส. ร่วมกันหลอกลวงให้จำเลยมาพบและยึดรถยนต์ไว้ และทำให้จำเลยเชื่อว่าตนถูกละเมิดสิทธิในทางทรัพย์สิน จึงได้ดำเนินการแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนถึงเหตุการณ์ตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น
            ข้อเท็จจริงดังกล่าวเป็นความจริงที่ทั้งโจทก์และจำเลยต่างยอมรับมิได้มีข้อความใดที่จำเลย กล่าวอ้างเป็นเท็จหรือบิดเบือนข้อเท็จจริงแต่อย่างใด ข้อความที่จำเลยแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนจึงตรงตามสภาพเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เป็นเรื่องที่จำเลยแจ้งความตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏ ส่วนการกระทำของโจทก์จะเป็นความผิดต่อกฎหมายตามที่จำเลยแจ้งหรือไม่ ไม่ใช่ข้อสำคัญ เพราะการแจ้งความย่อมหมายถึงเฉพาะข้อเท็จจริง ไม่เกี่ยวกับข้อกฎหมาย
            แม้ต่อมาพนักงานสอบสวนจะไม่ได้ดำเนินคดีแก่โจทก์ตามที่จำเลยแจ้งก็ตาม ก็ยังถือไม่ได้ว่าข้อความที่จำเลยแจ้งนั้นเป็นความเท็จ และถึงแม้จำเลยจะแจ้งต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีแก่โจทก์และนางสาว ส. ในข้อหา ร่วมกันชิงทรัพย์ ก็น่าเชื่อว่าเป็นการที่จำเลยกล่าวอ้างไปตามความเข้าใจของตน ส่วนการกระทำตามที่จำเลยแจ้งจะเป็นความผิดดังกล่าวหรือไม่ เป็นเรื่องที่พนักงานสอบสวน จะดำเนินการสอบสวนและรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อวินิจฉัยว่า การกระทำดังกล่าวจะเป็นความผิดฐานใด
            ดังนั้น เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ข้อความที่จำเลยแจ้งนั้นเป็นความจริงตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และจำเลยก็ไม่ได้มีเจตนาที่จะกลั่นแกล้งโจทก์ให้ได้รับโทษในทางอาญา การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานแจ้งความเท็จ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  5236/2549
ป.อ. มาตรา 172, 173, 174
             โจทก์ทั้งสองเบิกความยอมรับว่าได้ร่วมกับชาวบ้านเข้าไปในที่สาธารณประโยชน์โคกป่าช้าและตัดต้นไม้เพื่อจะสร้างศาลาพักศพจริง ซึ่งตรงกับที่จำเลยแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนตามสำเนารายงานประจำวันเกี่ยวกับคดี
             ดังนั้น ข้อความที่จำเลยแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนตรงตามสภาพเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น กรณีจึงเป็นเรื่องที่จำเลยแจ้งความตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏ ส่วนการกระทำของโจทก์ทั้งสองจะเป็นความผิดต่อกฎหมายตามที่จำเลยแจ้งหรือไม่ ไม่สำคัญ เพราะการแจ้งข้อความย่อมหมายถึงแจ้งเฉพาะข้อเท็จจริงไม่เกี่ยวกับข้อกฎหมาย แม้ต่อมาพนักงานสอบสวนจะได้ดำเนินคดีแก่โจทก์ทั้งสองตามที่จำเลยแจ้งและพนักงานอัยการมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดีโจทก์ทั้งสองก็ตาม ก็ยังถือไม่ได้ว่าข้อความที่จำเลยแจ้งนั้นเป็นความเท็จ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  3383/2541
ป.อ. มาตรา 173, 174
            ก่อนที่จำเลยไปแจ้งความดำเนินคดีแก่โจทก์ โจทก์ติดต่อตึกแถวให้จำเลยเช่า โจทก์ช่วยจำเลยขนย้ายทรัพย์สินไปที่ตึกแถวเลขที่ดังกล่าวโดยโจทก์ว่าจ้างนาย ป. เป็นผู้จัดหาคนงานและรถยนต์บรรทุกและโจทก์เป็นผู้ควบคุมการขนย้าย ปรากฏว่าทรัพย์สินของจำเลยหายไปหลายรายการ ต่อมา จำเลยพบโจทก์และทรัพย์สินที่หายอยู่ที่บ้านโดยคนในบ้านยอมรับว่าทรัพย์สินดังกล่าวเป็นของจำเลย แต่เมื่อจำเลยจะขนย้ายทรัพย์สินดังกล่าวคืนนาง อ. และนาย ป. ไม่ยอมให้ขนย้าย โดยอ้างว่าต้องให้โจทก์มาด้วย จำเลยจึงไปแจ้งความให้ดำเนินคดีแก่โจทก์
            แม้พนักงานสอบสวนจะดำเนินคดีแก่โจทก์ในข้อหาลักทรัพย์หรือรับของโจร แต่พนักงานอัยการมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องโจทก์ในข้อหาดังกล่าวโดยเห็นว่าหลักฐานไม่พอก็ตาม คำสั่งของพนักงานอัยการดังกล่าวเป็นเพียงความเห็นที่พิจารณาสั่งไปตามพยานหลักฐานในสำนวนการสอบสวนเท่านั้น ย่อมไม่มีผลผูกพันคดีนี้ให้ต้องพิจารณาไปตามนั้น เพราะการจะเป็นความผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จตามฟ้อง นอกจากจะต้องแจ้งข้อความอันเป็นเท็จเพื่อแกล้งให้ผู้อื่นต้องรับโทษแล้ว ผู้กระทำจะต้องรู้ว่าข้อความที่แจ้งนั้นเป็นเท็จด้วย
             แต่คดีนี้จำเลยไปแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนเป็นการแจ้งความตามเรื่องราวที่เกิดขึ้นแก่จำเลย โดยมีเหตุการณ์ทำให้จำเลยเข้าใจว่าต้องดำเนินคดีแก่โจทก์ ส่วนการจะตั้งข้อหาดำเนินคดีแก่โจทก์หรือไม่ ก็เป็นอำนาจหน้าที่ของพนักงานสอบสวน หาได้เกิดจากการกระทำของจำเลยโดยตรง กรณียังไม่พอฟังว่าจำเลยกระทำความผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จ

วันเสาร์ที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2558

ผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จ ม.172 , 173

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1076/2551
ป.อ. มาตรา 172 , 174
             โจทก์มี พันตำรวจตรี อ. พนักงานสอบสวนเป็นพยานเบิกความยืนยันว่า จำเลยให้การเพิ่มเติมต่อพยานว่า "จำเลยเห็นนาย จ. และนาย ธ. กระทำความผิดโดยร่วมกันใส่สารเคมีไม่ทราบว่าเป็นสิ่งใดลงไปในถังน้ำดื่ม" และก่อนจะให้จำเลยลงลายมือชื่อในบันทึกคำให้การดังกล่าว พยานได้ให้จำเลยอ่านบันทึกคำให้การด้วยตนเอง และพยานได้อ่านให้จำเลยฟังแล้ว
             แต่ต่อมาเมื่อจำเลยไปเบิกความเป็นพยานในคดีที่ฟ้องนาย จ. และนาย ธ. เป็นจำเลยของศาลชั้นต้น จำเลยกลับเบิกความยืนยันว่า จำเลยไม่เห็นเหตุการณ์ที่เคยให้การไว้ว่านาย จ. และนาย ธ. กระทำความผิด และจำเลยยังยืนยันต่อศาลด้วยว่าข้อเท็จจริงที่จำเลยให้การต่อพยานว่าจำเลยเห็นนาย จ. และนาย ธ. ร่วมกันกระทำความผิดนั้นเป็นความเท็จ นอกจากนี้ จำเลยเองก็นำสืบรับว่าจำเลยให้การต่อพนักงานสอบสวน 2 ครั้ง โดยครั้งแรกจำเลยให้การว่า ไม่เห็นบุคคลใดกระทำความผิด ต่อมาอีก 2 เดือน พนักงานสอบสวนไปสอบสวนจำเลยที่บริษัทอีกครั้งหนึ่ง จำเลยจึงให้การต่อพนักงานสอบสวนว่าจำเลยเห็นเหตุการณ์เพราะกลัวจะถูกไล่ออกจากงาน แต่ความจริงจำเลยไม่เห็นเหตุการณ์ ทั้งคำเบิกความของจำเลยเองก็เป็นการยอมรับแล้วว่า ความจริงจำเลยไม่รู้เห็นเหตุการณ์ในการกระทำความผิดของนาย จ. และนาย ธ. ส่วนที่จำเลยไปให้การต่อพนักงานสอบสวนว่า จำเลยเห็นนาย จ. และนาย ธ. ร่วมกันกระทำความผิดนั้นเป็นความเท็จ
              ดังนี้ ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า จำเลยได้แจ้งข้อความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับความผิดอาญาต่อพนักงานสอบสวนจริง และการแจ้งของจำเลยดังกล่าวทำให้นาย จ. และนาย ธ. ถูกดำเนินคดีในข้อหาร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนและเอาของมีพิษหรือสิ่งอื่นที่น่าจะเป็นอันตรายแก่สุขภาพเจือลงในน้ำที่มีอยู่หรือจัดไว้เพื่อประชาชนบริโภค
              จำเลยมีตัวจำเลยเบิกความลอย ๆ เพียงปากเดียวว่า ที่จำเลยให้ถ้อยคำอันเป็นเท็จต่อพนักงานสอบสวนเพราะกลัวถูกออกจากงาน โดยอ้างว่าก่อนจำเลยให้การต่อพนักงานสอบสวน พนักงานสอบสวนได้พูดคุยกับนาย ส. ผู้ช่วยผู้จัดการซึ่งเป็นหัวหน้างานของจำเลยว่า หากจำเลยไม่ให้การว่าเห็นเหตุการณ์จะไล่จำเลยออกจากงาน แต่จำเลยก็ไม่นำนาย ส. มาเบิกความยืนยันว่าพนักงานสอบสวนได้พูดกับนาย ส. ตามที่จำเลยอ้างหรือไม่
             นอกจากนี้ข้อเท็จจริงยังปรากฏอีกว่า ในคดีที่ฟ้องนาย จ. และจำเลยไปเบิกความเป็นพยานโจทก์ จำเลยก็มิได้อ้างว่า จำเลยให้ถ้อยคำอันเป็นเท็จต่อพนักงานสอบสวนเพราะถูกข่มขู่ หรือกลัวว่าจะถูกไล่ออกจากงาน ส่วนในคดีที่ฟ้องนาย ธ. และจำเลยไปเบิกความเป็นพยานโจทก์  จำเลยกลับเบิกความว่า ที่จำเลยให้ถ้อยคำอันเป็นเท็จต่อพนักงานสอบสวนเนื่องจากกลัวว่านาย พ. ซึ่งเป็นหัวหน้าแผนกจะให้จำเลยออกจากงานแต่นาย พ. ก็ไม่ได้ข่มขู่จำเลย ซึ่งไม่ตรงกับที่จำเลยนำสืบต่อสู้ในคดีนี้ รวมทั้งจำเลยยังเบิกความด้วยว่าพนักงานสอบสวนหรือเจ้าพนักงานตำรวจไม่เคยข่มขู่หรือขู่เข็ญจำเลยให้ให้การแต่อย่างใด
             ดังนี้ ข้ออ้างของจำเลยที่ว่า จำเลยให้ถ้อยคำอันเป็นเท็จต่อพนักงานสอบสวนเพราะถูกข่มขู่ จึงไม่มีน้ำหนักที่จะรับฟัง พยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักมั่นคงรับฟังได้ว่า จำเลยแจ้งข้อความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับความผิดอาญาต่อพนักงานสอบสวนและเป็นการแจ้งโดยมีเจตนาที่จะแกล้งให้นาย จ. และนาย ธ. ได้รับโทษฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนและเอาของมีพิษหรือสิ่งอื่นที่น่าจะเป็นอันตรายแก่สุขภาพเจือลงในน้ำที่มีอยู่หรือจัดไว้เพื่อประชาชนบริโภค
             การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 172 และมาตรา 174 วรรคสอง และความผิดดังกล่าวนี้เป็นความผิดสำเร็จเมื่อพนักงานสอบสวนได้ทราบข้อความที่จำเลยแจ้ง พนักงานสอบสวนจะทราบว่าข้อความที่จำเลยแจ้งเป็นความเท็จหรือไม่ คดีที่ผู้ต้องหาถูกฟ้องว่ากระทำความผิดเนื่องจากการแจ้งข้อความอันเป็นเท็จของจำเลยนั้น ศาลจะมีคำพิพากษาอย่างไร และถึงที่สุดแล้วหรือไม่ หาใช่ข้อสำคัญที่จะฟังว่าจำเลยกระทำความผิดหรือไม่ ฉะนั้น แม้โจทก์จะไม่อ้างส่งสำนวนคดีที่ฟ้องนาย จ. และนาย ธ. ต่อศาลชั้นต้น และคำพิพากษาของศาลในคดีดังกล่าวเป็นพยาน ก็หามีผลทำให้พยานโจทก์ขาดน้ำหนักที่จะรับฟังหรือเป็นพิรุธสงสัยไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  1706/2546
ป.อ. มาตรา 137, 172
ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย, 195 วรรคสอง, 225
           เมื่อมันสำปะหลังที่ขุดเป็นของโจทก์ที่ 1 ที่ปลูกในที่ดินเกิดเหตุ โดยจำเลยทั้งสองมิได้เป็นผู้ปลูก การที่จำเลยที่ 1 ไปแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนว่าโจทก์ทั้งสี่ลักทรัพย์มันสำปะหลังที่ตนปลูกจึงเป็นการแจ้งข้อความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับความผิดอาญาแก่พนักงานสอบสวนซึ่งทำให้โจทก์ทั้งสี่เสียหาย จำเลยที่ 1 ย่อมมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 172 หาใช่เป็นเรื่องขาดเจตนาไม่
           ส่วนจำเลยที่ 2 ไปให้การเป็นพยานต่อพนักงานสอบสวนยืนยันว่าตนร่วมปลูกมันสำปะหลังกับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นความเท็จ โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 จะได้มีเจตนาร่วมกระทำผิดกับจำเลยที่ 1 การกระทำของจำเลยที่ 2 คงเป็นเพียงความผิดฐานแจ้งความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137 ซึ่งมีอัตราโทษเบากว่าเท่านั้น ปัญหานี้แม้จะไม่มีฝ่ายใดฎีกา แต่เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ซึ่งศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นอ้างและแก้ไขให้ถูกต้อง และกำหนดโทษให้เหมาะสมได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225, 192 วรรคท้าย

วันเสาร์ที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2558

หลบหนีจากที่คุมขัง ม.190

คำพิพากษาฎีกาที่ 4915/2537 
ป.อ. มาตรา 80, 190 วรรคแรก
              จำเลยเป็นผู้ต้องหาในคดีชิงทรัพย์ถูกคุมขังอยู่ที่ห้องขังของสถานีตำรวจ นายดาบตำรวจ ส. เสมียนคดี แจ้งความประสงค์ต่อนายดาบตำรวจ ก. ซึ่งปฏิบัติหน้าที่สิบเวรว่าได้รับคำสั่งจากพันตำรวจตรี ส. พนักงานสอบสวนให้มาพิมพ์ลายนิ้วมือของจำเลย นายดาบตำรวจ ก. จึงให้สิบตำรวจตรี ป. ช่วยควบคุมดูแลด้วย แล้วนายดาบตำรวจ ก. ไขกุญแจห้องขังเปิดประตูเพื่อใส่กุญแจมือจำเลยก่อนนำจำเลยออกจากห้องขัง แต่จำเลยวิ่งสวนทางออกมา โดยนายดาบตำรวจ ก. ไม่สามารถคว้าข้อมือจำเลยได้ทัน สิบตำรวจตรี ป. คว้าคอเสื้อจำเลยไว้แต่จำเลยดิ้นหลุดไปได้และวิ่งหลบหนีลงไปทางบันไดของสถานีตำรวจ สิบตำรวจตรี ฉ. ซึ่งยืนอยู่ตรงที่พักบันไดประสบเหตุดังกล่าว จึงเข้าสกัดจับจำเลยไว้ได้ โดยมีนายดาบตำรวจ ก. และสิบตำรวจตรี ป. เข้าช่วยในการจับกุมด้วย
              เห็นว่านายดาบตำรวจ ก. ปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ควบคุมจำเลยไว้ในห้องขังสถานีตำรวจดังกล่าวอันเป็นการควบคุมที่เจ้าพนักงานตำรวจจัดกำหนดขอบเขตเอาไว้ เมื่อจำเลยออกจากขอบเขตดังกล่าวโดยผู้มีอำนาจควบคุมจำเลยยังมิได้อนุญาตในลักษณะของการวิ่งหลบหนีออกมาพ้นเขตควบคุมแล้ว ไม่ว่าเจ้าพนักงานตำรวจจะติดตามจับกุมจำเลยได้หรือไม่ก็ตาม การกระทำของจำเลยย่อมเป็นการหลบหนีไปในระหว่างที่ถูกคุมขังของเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญาเป็นความผิดสำเร็จแล้ว ไม่จำเป็นต้องหลบหนีให้พ้นออกไปจากตัวอาคารของสถานีตำรวจดังกล่าว จึงจะถือว่าการหลบหนีสำเร็จดังจำเลยกล่าวอ้าง

คำพิพากษาฎีกาที่ 772/2536 
ป.อ. มาตรา 190, 288, 371, 376
พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 8 ทวิ, 72 ทวิ
               หลังจากจำเลยใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายถึงแก่ความตายแล้ว จำเลยได้เข้ามอบตัวต่อพันตำรวจโท บ. พันตำรวจโท บ. สอบปากคำจำเลย จำเลยขออนุญาตกลับไปเปลี่ยนเสื้อผ้าที่บ้านเพราะเสื้อผ้าเปื้อนเลือด พันตำรวจโท บ. ขับรถยนต์ไปส่งจำเลยที่บ้าน เมื่อไปถึงบ้านของจำเลย จำเลยเดินเข้าไปในบ้าน พันตำรวจโท บ. นั่งคอยจำเลยอยู่ที่ห้องรับแขก กับมีเจ้าพนักงานตำรวจอีก 2 คน คอยอยู่นอกบ้าน แม้ไม่ปรากฏว่าพันตำรวจโท บ. ทำบันทึกการมอบตัวหรือแจ้งข้อหาแก่จำเลย แต่ก็ถือได้ว่าพันตำรวจโท บ. ได้คุมขังจำเลยไว้เพื่อทำการสืบสวนสอบสวนต่อไปตามอำนาจหน้าที่แล้ว การที่จำเลยไม่กลับมาพบพันตำรวจโท บ. แล้วหลบหนีออกทางประตูหลังบ้านไป ถือได้ว่าจำเลยได้หลบหนีไปจากความควบคุมของพันตำรวจโท บ. เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 190 แล้ว
              แม้ก่อนเกิดเหตุจำเลยเคยไปเก็บเงินค่าสินค้าที่ต่างอำเภอและถูกคนร้ายชิงทรัพย์ก็ตาม การที่จำเลยพาอาวุธปืนไปเก็บเงินที่อำเภอดังกล่าวในวันเกิดเหตุ ก็ถือไม่ได้ว่าเป็นกรณีมีเหตุจำเป็นและเร่งด่วนตามสมควรแก่พฤติการณ์ เพราะไม่แน่ว่าจะมีเหตุร้ายเกิดขึ้น จำเลยจึงมีความผิดฐานพาอาวุธปืนติดตัวโดยไม่ได้รับอนุญาตแต่พฤติการณ์ดังกล่าวเป็นกรณีที่สมควรลงโทษจำเลยสถานเบา

ต่อสู้ขัดขวางการจับกุม ม.138

คำพิพากษาฎีกาที่  2410/2545
ป.อ. มาตรา 83, 138
พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15, 67
               จ่าสิบตำรวจ ส. และสิบตำรวจตรี น. เจ้าพนักงานตำรวจ สภ.แม่แตง จว.เชียงใหม่ ได้ตั้งด่านตรวจยานพาหนะที่แล่นผ่านบริเวณป้อมยามบ้านแม่แสะ พบจำเลยขับรถยนต์กระบะสีน้ำเงินแล่นผ่านมา จ่าสิบตำรวจ ส. จึงส่งสัญญาณให้หยุดรถ แต่จำเลยไม่ยอมหยุดกลับขับรถแล่นผ่านไป จ่าสิบตำรวจ ส. และสิบตำรวจตรี น. จึงขับรถยนต์ไล่ติดตามไปจอดรถขวางหน้าไว้แล้วบังคับให้จำเลยหยุดรถซึ่งอยู่ห่างด่านตรวจประมาณ 800 เมตร เมื่อจำเลยจอดรถแล้วเปิดประตูรถจะหลบหนี ต้องเข้าสกัด จึงสามารถจับกุมจำเลยได้ ส่วนชายอีกคนหนึ่งที่นั่งรถมากับจำเลยได้หลบหนีไป จากการตรวจค้นภายในรถยนต์กระบะของจำเลย พบเมทแอมเฟตามีน จำนวน 5 ถุง ถุงละ 200 เม็ด ที่เบาะนั่งด้านหน้าข้างที่นั่งคนขับและพบผงเฮโรอีนตกเรี่ยราดอยู่ที่พื้นรถยนต์บริเวณที่นั่งคนขับด้วย
               จำเลยรับจ้างขับรถยนต์กระบะไปส่งคนร้ายที่มีเมทแอมเฟตามีนของกลางไว้ในครอบครองโดยจำเลยรู้จักคนร้ายที่นั่งรถมาด้วย การกระทำความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตนั้นเป็นความผิดที่เกิดขึ้นและมีอยู่ต่อเนื่องกันไปตลอดเวลา นับตั้งแต่เมื่อบุคคลผู้นั้นได้ยึดถือเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองโดยที่ไม่ได้รับอนุญาต จนกระทั่งขนเคลื่อนย้ายไป เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า คนร้ายซึ่งมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองได้มาว่าจ้างจำเลยให้ขับรถยนต์กระบะไปส่งยังจุดหมายปลายทาง โดยจำเลยรู้จักคนร้ายเป็นอย่างดี และจำเลยรู้อยู่แล้วว่าเมทแอมเฟตามีน จำนวน 1,000 เม็ด ของกลางคนร้ายจะนำไปจำหน่ายที่สถานที่ก่อสร้างในอำเภอเมืองเชียงใหม่ การที่เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยและยึดได้เมทแอมเฟตามีน จำนวน 1,000 เม็ด ของกลาง แม้จำเลยจะอ้างว่าเมทแอมเฟตามีนของกลางไม่ใช่ของจำเลย แต่การที่จำเลยรู้อยู่แล้วว่าเป็นเมทแอมเฟตามีนอันเป็นยาเสพติดให้โทษ เมื่อจำเลยรับจ้างขับรถยนต์กระบะเพื่อส่งคนร้ายโดยมียาเสพติดให้โทษนั้นอยู่ในความยึดถือหรือความปกครองดูแลของจำเลยด้วยก็ถือได้ว่าจำเลยมีเมทแอมเฟตามีนของกลางไว้ในครอบครอง เมื่อจำเลยกับคนร้ายกระทำร่วมกันเพื่อให้บรรลุตามความประสงค์ร่วมกันในการกระทำดังกล่าว โดยการกระทำแต่ละขั้นตอนเป็นสาระสำคัญก่อให้เกิดเป็นความผิดขึ้น การกระทำของจำเลยจึงถือได้ว่าเป็นตัวการมิใช่เป็นเพียงผู้สนับสนุนการกระทำความผิด
                เมื่อจำเลยขับรถยนต์กระบะมาถึงด่านตรวจบ้านแม่แสะ เจ้าพนักงานตำรวจได้ให้สัญญาณให้หยุดรถเพื่อตรวจ จำเลยไม่ยอมหยุดและได้ขับรถเลยไปจนต้องมีการไล่ติดตามเพื่อสกัดจับโดยจ่าสิบตำรวจ ส. เบิกความว่า จำเลยไม่ได้ชกต่อยทำร้ายร่างกายพยาน เพียงแต่ดิ้นรนเพื่อให้หลุดพ้นจากการจับกุมเท่านั้น ดังนี้ การที่จำเลยขับรถเลยไปไม่ยอมหยุดให้ตรวจค้นก็ดี การที่จำเลยดิ้นรนเพื่อให้หลุดพ้นจากการจับกุมก็ดี เป็นเพียงขั้นตอนหนึ่งของการจะหลบหนี เมื่อไม่ได้ความว่าจำเลยกระทำอื่นใดนอกเหนือไปจากนี้การกระทำของจำเลยจึงยังถือไม่ได้ว่าเป็นความผิดฐานต่อสู้หรือขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่

วันเสาร์ที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

การใช้ดุลยพินิจในการสั่งคดี ม.200

                สำนักงานอัยการสูงสุด ได้มีหนังสือที่ อส ๐๐๐๗(ปผ)/ว ๒๑๔ ลง ๑๘ มิ.ย.๒๕๕๘ เรื่องซักซ้อมความเข้าใจการใช้ดุลยพินิจสั่งคดีของพนักงานอัยการ โดยเห็นว่าการใช้ดุลยพินิจสั่งคดียังไม่ถูกต้อง ดังนี้
                ๑.  มีการนำข้อเท็จจริงนอกสำนวน เช่น ข้อเท็จจริงตามหนังสือร้องขอความเป็นธรรมของผู้ต้องหา หรือ เอกสารหลักฐานต่าง ๆ ที่ฝ่ายผู้ต้องหานำมามอบให้ มาพิจารณารับฟังเป็นพยานหลักฐานโดยไม่ผ่านการสอบสวนของพนักงานสอบสวน และนำมาอ้างเป็นเหตุผลในการใช้ดุลยพินิจสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหา
                    ในกรณีนี้ ถ้าพนักงานอัยการเห็นว่าการร้องขอความเป็นธรรมมีเหตุผลอันควรต้องพิจารณาข้อเท็จจริงตามคำร้อง ต้องสั่งให้พนักงานสอบสวนสอบคำให้การพยานบุคคลที่เกี่ยวข้องกับข้อเท็จจริง หรือพยานบุคคลที่เกี่ยวข้องกับเอกสารที่ผู้ร้องอ้างเป็นพยานหลักฐานเพื่อเป็นพยานหลักฐานในการสั่งคดี หรือส่งพยานมาให้ซักถาม และจะต้องพิจารณาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานในสำนวนการสอบสวน โดยมีอำนาจสั่งให้พนักงานสอบสวนดำเนินการสอบสวนเพิ่มเติมหรือส่งพยานมาให้ซักถาม ตาม ป.วิ.อ. ลักษณะ ๒ เรื่องการสอบสวน และระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุด ว่าด้วยการดำเนินคดีอาญาของพนักงานอัยการ พ.ศ.๒๕๕๗ ข้อ ๔๙, ๕๖, ๖๖ - ๗๐
              ๒.  ไม่เชื่อคำให้การของผู้เสียหายหรือพยานในสำนวนการสอบสวนโดยไม่มีเหตุผลหักล้างเพียงพอ แล้วนำมาเป็นเหตุพิจารณาสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหา
                   ในกรณีนี้ พนักงานอัยการต้องสามารถระบุเหตุผลที่นำมาหักล้างคำให้การของผู้เสียหายหรือพยานดังกล่าวได้ โดยต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานแห่งความสุจริตและเที่ยงธรรม ตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.องค์กรอัยการและพนักงานอัยการ พ.ศ.๒๕๕๓ มาตรา ๒๑ ,๒๒ และให้คำนึงถึงภารกิจและบทบาทของพนักงานอัยการ ตามที่กำหนดไว้ในระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุด ว่าด้วยการดำเนินคดีอาญาของพนักงานอัยการ พ.ศ.๒๕๕๗ ข้อ ๕ โดยเคร่งครัด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  ๓๕๐๙/๒๕๔๙
ป.อ. มาตรา ๑๕๗, ๒๐๐
ป.วิ.อ. มาตรา ๒ (๔) , ๑๕๘
               จำเลยรับราชการเป็นพนักงานอัยการ มีอำนาจหน้าที่วินิจฉัยสั่งคดีและดำเนินคดีอาญาเกี่ยวกับสำนวนการสอบสวนที่อยู่ในความรับผิดชอบของสถานีตำรวจ ส่วนโจทก์รับราชการเป็นข้าราชการตุลาการดำรงตำแหน่งผู้พิพากษา
              โจทก์ได้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน กล่าวหาบริษัท เป็นเจ้าของ และ ป. เป็นบรรณาธิการ ว่าร่วมกันหมิ่นประมาทโจทก์โดยการโฆษณาด้วยเอกสาร พนักงานสอบสวนดำเนินการสอบสวนแล้วมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องแล้วได้ส่งความเห็นพร้อมสำนวนการสอบสวนมายังพนักงานอัยการ
              จำเลยพิจารณาแล้วมีคำสั่งไม่ฟ้องบริษัท ส. และ ป. ที่ถูกกล่าวหาว่าหมิ่นประมาทโจทก์ โดยอ้างเหตุผลว่า ลักษณะการลงข่าวย่อยมีการพาดหัวข้อสั้น ๆ ส่วนเนื้อหาก็มีลักษณะเป็นการสรุปข่าวสั้น ๆ มิได้ตีพิมพ์อย่างเอิกเกริกหรือพาดหัวในหน้าหนึ่งให้ผิดปกติแต่อย่างใด และจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับการแจ้งความดำเนินคดีระหว่างผู้เสียหาย (โจทก์) กับ บ. ที่สถานีตำรวจ ก็ปรากฏว่ามีการแจ้งความซึ่งกันและกันตามข่าวจริง และในสำนวนการสอบสวนที่เกี่ยวข้องทั้งโจทก์และ บ. ก็ตกเป็นผู้ต้องหาจริง เพียงแต่โจทก์ซึ่งเป็นผู้พิพากษามิได้ถูกพนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาและสอบสวนคำให้การในฐานะผู้ต้องหาและมิได้ใช้ตำแหน่งประกันตัวไปตามข่าวที่เสนอเท่านั้น ลักษณะการลงข่าวทำให้เห็นได้ว่าเป็นการลงข่าวและคาดคะเนสรุปของข่าวว่าเป็นกรณีทั่ว ๆ ไปของการตกเป็นผู้ต้องหาเท่านั้น อีกทั้งไม่ปรากฏว่าผู้ต้องหาทั้งสองมีสาเหตุโกรธเคืองเรื่องใดกับโจทก์มาก่อน จึงไม่มีเหตุที่จะต้องแกล้งใส่ความโจทก์ในการพิมพ์โฆษณาเช่นนั้น
              ในฐานะพนักงานอัยการที่มีอำนาจวินิจฉัยสั่งคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา จำเลยย่อมมีอิสระที่จะใช้อำนาจวินิจฉัยสั่งการตามความเห็นของตนได้ โดยไม่มีการอ้างได้ว่าการใช้ดุลพินิจไปในทางใดเป็นการชอบหรือมิชอบ เพราะการใช้ดุลพินิจในกรณีเดียวกัน พนักงานอัยการอาจวินิจฉัยคดีไปคนละทางได้ ความถูกต้องเหมาะสมของดุลพินิจเป็นเรื่องของกลไกการตรวจสอบและถ่วงดุลดังที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาบัญญัติไว้ในมาตรา ๑๔๕ กำหนดว่า ในกรณีที่มีคำสั่งไม่ฟ้องและคำสั่งนั้นไม่ใช่ของอธิบดีกรมอัยการ ถ้าในนครหลวงกรุงเทพธนบุรี ให้พนักงานอัยการส่งสำนวนการสอบสวนพร้อมกับคำสั่งไม่ฟ้องไปเสนออธิบดีกรมตำรวจ รองอธิบดีกรมตำรวจหรือผู้ช่วยอธิบดีกรมตำรวจเพื่อพิจารณา เป็นต้น ในกรณีนี้ แม้การวินิจฉัยของพนักงานอัยการและการวินิจฉัยของอธิบดีกรมตำรวจ รองอธิบดีกรมตำรวจหรือผู้ช่วยอธิบดีกรมตำรวจจะแตกต่างกัน ก็เป็นเรื่องของความมีอิสระของแต่ละฝ่ายที่ไม่อาจถือได้ว่าการวินิจฉัยของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเป็นการมิชอบ
                อย่างไรก็ดี ความมีอิสระของพนักงานอัยการที่จะวินิจฉัยสั่งคดีนี้ มิใช่จะไร้ขอบเขตเสียทีเดียว ในฐานะเจ้าหน้าที่ของรัฐ การใช้ดุลพินิจวินิจฉัยสั่งคดีของพนักงานอัยการทุกคนจะต้องอยู่ภายใต้ขอบเขตของความชอบด้วยกฎหมาย หมายความว่า ถ้าการใช้ดุลพินิจของพนักงานอัยการคนใดเกินล้ำออกนอกขอบเขตดังกล่าว การใช้ดุลพินิจนั้นย่อมเป็นการไม่ชอบ แต่ถ้าการใช้ดุลพินิจดังกล่าวอยู่ภายในขอบเขตของความชอบด้วยกฎหมายแล้ว ภายในขอบเขตนี้ พนักงานอัยการจะวินิจฉัยสั่งคดีไปในทางใดก็ได้ ซึ่งความหมายของการใช้ดุลพินิจที่ชอบด้วยกฎหมายในที่นี้ คือ การใช้ดุลพินิจที่อยู่บนรากฐานของความสมเหตุสมผลที่วิญญูชนโดยทั่วไปยอมรับได้ว่ามิใช่เป็นการใช้ดุลพินิจตามอำเภอใจ หรือมีการบิดผันอำนาจนั่นเอง
               อนึ่ง เนื่องจากการวินิจฉัยสั่งคดีของพนักงานอัยการในชั้นนี้ มิใช่เป็นการวินิจฉัยว่าจำเลยมีความผิดหรือเป็นผู้บริสุทธิ์ดังเช่นกระบวนการพิจารณาพิพากษาคดีของศาล แต่เป็นเพียงการวินิจฉัยมูลความผิดตามที่กล่าวหาเท่านั้น ซึ่งเกณฑ์วินิจฉัยมูลความผิดของพนักงานอัยการที่วินิจฉัยสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องผู้ต้องหา คือ มีเหตุผลอันสมควรเพียงพอหรือไม่ที่จะนำผู้ต้องหาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมทางอาญาเพื่อให้ศาลวินิจฉัยชั้นสุดท้ายว่าผู้ถูกกล่าวหากระทำความผิดตามที่ถูกกล่าวหาหรือไม่
               การที่จำเลยวินิจฉัยสั่งไม่ฟ้องบุคคลดังกล่าว โดยอ้างเหตุว่าผู้ต้องหาทั้งสองไม่มีเจตนาหมิ่นประมาทโจทก์ เป็นการวินิจฉัยมูลความผิดแบบด่วนวินิจฉัยคดีเสียเอง ดุจเป็นการพิจารณาพิพากษาคดีของศาล กล่าวคือ มิได้ใช้เกณฑ์วินิจฉัยมูลความผิดอย่างพนักงานอัยการพึงใช้ การใช้ดุลพินิจของจำเลยกรณีนี้นับเป็นเรื่องผิดปกติวิสัยของพนักงานอัยการผู้สุจริตโดยทั่วไป จึงเป็นการใช้ดุลพินิจที่วิญญูชนโดยทั่วไปไม่สามารถยอมรับได้ว่ามิใช่เป็นการใช้ดุลพินิจตามอำเภอใจ แม้การวินิจฉัยสั่งคดีของจำเลยเป็นไปตามขั้นตอนที่กำหนด แต่เมื่อเป็นการใช้ดุลพินิจตามอำเภอใจเช่นนี้แล้วก็ถือไม่ได้ว่าจำเลยสุจริตใจดังที่จำเลยอ้าง
              โดยสรุปศาลฎีกาเห็นว่า การใช้ดุลพินิจวินิจฉัยสั่งคดีของจำเลยที่มีคำสั่งไม่ฟ้องหนังสือพิมพ์ ด. ซึ่งบริษัท ส. และ ป. ลงข้อความในหนังสือพิมพ์เป็นความเท็จ และก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ เป็นการใช้ดุลพินิจที่มิได้อยู่บนรากฐานของความสมเหตุสมผล แต่เป็นการใช้ดุลพินิจตามอำเภอใจ จึงเกินล้ำออกนอกของเขตของความชอบด้วยกฎหมาย และในฐานะที่จำเลยเป็นข้าราชการอัยการชั้นสูง จำเลยย่อมทราบดีถึงเกณฑ์วินิจฉัยมูลความผิดของพนักงานอัยการ การใช้ดุลพินิจผิดกฎหมายในกรณีนี้ จำเลยเห็นได้อยู่ในตัวแล้วว่า เป็นการมิชอบและมีเจตนาเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ซึ่งเป็นผู้เสียหาย อีกทั้งเพื่อจะช่วยบริษัท ส. และ ป. มิให้ต้องโทษจากการกระทำความผิดของตนอีกด้วย จำเลยจึงมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา ๑๕๗ และมาตรา ๒๐๐ วรรคหนึ่ง
               การกระทำของจำเลยที่เป็นความผิด คือ การใช้อำนาจในฐานะพนักงานอัยการสั่งไม่ฟ้อง ผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าหมิ่นประมาทโจทก์ ผลของการกระทำของจำเลยคือ โจทก์ในฐานะผู้เสียหายไม่ได้รับการเยียวยาตามกฎหมาย ดังนั้น โจทก์จึงเป็นผู้เสียหายจากการกระทำผิดของจำเลยโดยตรง โจทก์จึงเป็นผู้เสียหาย
              ตามฟ้องข้อ ๑ (ก) แม้ข้อความว่า "เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์" จะอยู่ต่อจากและติดข้อความว่า "...ผู้ต้องหาทั้งสองมีเจตนาหมิ่นประมาทใส่ความโจทก์" กล่าวคือ เมื่ออ่านรวมกันมีข้อความว่า "...ผู้ต้องหาทั้งสองมีเจตนาหมิ่นประมาทใส่ความโจทก์เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์" แต่การทำความเข้าใจข้อความในคำฟ้อง ต้องทำความเข้าใจในข้อความดังกล่าวประกอบข้อความส่วนอื่น ๆ ของคำฟ้องด้วย ซึ่งเห็นได้ว่าข้อความดังกล่าวเป็นข้อความสืบเนื่องจากการสั่งไม่ฟ้องคดีของจำเลยดังที่โจทก์บรรยายไว้อย่างชัดเจนในตอนต้น จึงเข้าใจได้อยู่ในตัวว่า ในการอ้างว่าจำเลยมีเจตนาพิเศษเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ โจทก์หมายถึงเจตนาที่สืบเนื่องจากการใช้อำนาจสั่งฟ้องคดีของจำเลย ฟ้องของโจทก์จึงชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา ๑๕๘ แล้ว