วันเสาร์ที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2558

ผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จ ม.172 , 173

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1076/2551
ป.อ. มาตรา 172 , 174
             โจทก์มี พันตำรวจตรี อ. พนักงานสอบสวนเป็นพยานเบิกความยืนยันว่า จำเลยให้การเพิ่มเติมต่อพยานว่า "จำเลยเห็นนาย จ. และนาย ธ. กระทำความผิดโดยร่วมกันใส่สารเคมีไม่ทราบว่าเป็นสิ่งใดลงไปในถังน้ำดื่ม" และก่อนจะให้จำเลยลงลายมือชื่อในบันทึกคำให้การดังกล่าว พยานได้ให้จำเลยอ่านบันทึกคำให้การด้วยตนเอง และพยานได้อ่านให้จำเลยฟังแล้ว
             แต่ต่อมาเมื่อจำเลยไปเบิกความเป็นพยานในคดีที่ฟ้องนาย จ. และนาย ธ. เป็นจำเลยของศาลชั้นต้น จำเลยกลับเบิกความยืนยันว่า จำเลยไม่เห็นเหตุการณ์ที่เคยให้การไว้ว่านาย จ. และนาย ธ. กระทำความผิด และจำเลยยังยืนยันต่อศาลด้วยว่าข้อเท็จจริงที่จำเลยให้การต่อพยานว่าจำเลยเห็นนาย จ. และนาย ธ. ร่วมกันกระทำความผิดนั้นเป็นความเท็จ นอกจากนี้ จำเลยเองก็นำสืบรับว่าจำเลยให้การต่อพนักงานสอบสวน 2 ครั้ง โดยครั้งแรกจำเลยให้การว่า ไม่เห็นบุคคลใดกระทำความผิด ต่อมาอีก 2 เดือน พนักงานสอบสวนไปสอบสวนจำเลยที่บริษัทอีกครั้งหนึ่ง จำเลยจึงให้การต่อพนักงานสอบสวนว่าจำเลยเห็นเหตุการณ์เพราะกลัวจะถูกไล่ออกจากงาน แต่ความจริงจำเลยไม่เห็นเหตุการณ์ ทั้งคำเบิกความของจำเลยเองก็เป็นการยอมรับแล้วว่า ความจริงจำเลยไม่รู้เห็นเหตุการณ์ในการกระทำความผิดของนาย จ. และนาย ธ. ส่วนที่จำเลยไปให้การต่อพนักงานสอบสวนว่า จำเลยเห็นนาย จ. และนาย ธ. ร่วมกันกระทำความผิดนั้นเป็นความเท็จ
              ดังนี้ ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า จำเลยได้แจ้งข้อความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับความผิดอาญาต่อพนักงานสอบสวนจริง และการแจ้งของจำเลยดังกล่าวทำให้นาย จ. และนาย ธ. ถูกดำเนินคดีในข้อหาร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนและเอาของมีพิษหรือสิ่งอื่นที่น่าจะเป็นอันตรายแก่สุขภาพเจือลงในน้ำที่มีอยู่หรือจัดไว้เพื่อประชาชนบริโภค
              จำเลยมีตัวจำเลยเบิกความลอย ๆ เพียงปากเดียวว่า ที่จำเลยให้ถ้อยคำอันเป็นเท็จต่อพนักงานสอบสวนเพราะกลัวถูกออกจากงาน โดยอ้างว่าก่อนจำเลยให้การต่อพนักงานสอบสวน พนักงานสอบสวนได้พูดคุยกับนาย ส. ผู้ช่วยผู้จัดการซึ่งเป็นหัวหน้างานของจำเลยว่า หากจำเลยไม่ให้การว่าเห็นเหตุการณ์จะไล่จำเลยออกจากงาน แต่จำเลยก็ไม่นำนาย ส. มาเบิกความยืนยันว่าพนักงานสอบสวนได้พูดกับนาย ส. ตามที่จำเลยอ้างหรือไม่
             นอกจากนี้ข้อเท็จจริงยังปรากฏอีกว่า ในคดีที่ฟ้องนาย จ. และจำเลยไปเบิกความเป็นพยานโจทก์ จำเลยก็มิได้อ้างว่า จำเลยให้ถ้อยคำอันเป็นเท็จต่อพนักงานสอบสวนเพราะถูกข่มขู่ หรือกลัวว่าจะถูกไล่ออกจากงาน ส่วนในคดีที่ฟ้องนาย ธ. และจำเลยไปเบิกความเป็นพยานโจทก์  จำเลยกลับเบิกความว่า ที่จำเลยให้ถ้อยคำอันเป็นเท็จต่อพนักงานสอบสวนเนื่องจากกลัวว่านาย พ. ซึ่งเป็นหัวหน้าแผนกจะให้จำเลยออกจากงานแต่นาย พ. ก็ไม่ได้ข่มขู่จำเลย ซึ่งไม่ตรงกับที่จำเลยนำสืบต่อสู้ในคดีนี้ รวมทั้งจำเลยยังเบิกความด้วยว่าพนักงานสอบสวนหรือเจ้าพนักงานตำรวจไม่เคยข่มขู่หรือขู่เข็ญจำเลยให้ให้การแต่อย่างใด
             ดังนี้ ข้ออ้างของจำเลยที่ว่า จำเลยให้ถ้อยคำอันเป็นเท็จต่อพนักงานสอบสวนเพราะถูกข่มขู่ จึงไม่มีน้ำหนักที่จะรับฟัง พยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักมั่นคงรับฟังได้ว่า จำเลยแจ้งข้อความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับความผิดอาญาต่อพนักงานสอบสวนและเป็นการแจ้งโดยมีเจตนาที่จะแกล้งให้นาย จ. และนาย ธ. ได้รับโทษฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนและเอาของมีพิษหรือสิ่งอื่นที่น่าจะเป็นอันตรายแก่สุขภาพเจือลงในน้ำที่มีอยู่หรือจัดไว้เพื่อประชาชนบริโภค
             การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 172 และมาตรา 174 วรรคสอง และความผิดดังกล่าวนี้เป็นความผิดสำเร็จเมื่อพนักงานสอบสวนได้ทราบข้อความที่จำเลยแจ้ง พนักงานสอบสวนจะทราบว่าข้อความที่จำเลยแจ้งเป็นความเท็จหรือไม่ คดีที่ผู้ต้องหาถูกฟ้องว่ากระทำความผิดเนื่องจากการแจ้งข้อความอันเป็นเท็จของจำเลยนั้น ศาลจะมีคำพิพากษาอย่างไร และถึงที่สุดแล้วหรือไม่ หาใช่ข้อสำคัญที่จะฟังว่าจำเลยกระทำความผิดหรือไม่ ฉะนั้น แม้โจทก์จะไม่อ้างส่งสำนวนคดีที่ฟ้องนาย จ. และนาย ธ. ต่อศาลชั้นต้น และคำพิพากษาของศาลในคดีดังกล่าวเป็นพยาน ก็หามีผลทำให้พยานโจทก์ขาดน้ำหนักที่จะรับฟังหรือเป็นพิรุธสงสัยไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  1706/2546
ป.อ. มาตรา 137, 172
ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย, 195 วรรคสอง, 225
           เมื่อมันสำปะหลังที่ขุดเป็นของโจทก์ที่ 1 ที่ปลูกในที่ดินเกิดเหตุ โดยจำเลยทั้งสองมิได้เป็นผู้ปลูก การที่จำเลยที่ 1 ไปแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนว่าโจทก์ทั้งสี่ลักทรัพย์มันสำปะหลังที่ตนปลูกจึงเป็นการแจ้งข้อความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับความผิดอาญาแก่พนักงานสอบสวนซึ่งทำให้โจทก์ทั้งสี่เสียหาย จำเลยที่ 1 ย่อมมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 172 หาใช่เป็นเรื่องขาดเจตนาไม่
           ส่วนจำเลยที่ 2 ไปให้การเป็นพยานต่อพนักงานสอบสวนยืนยันว่าตนร่วมปลูกมันสำปะหลังกับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นความเท็จ โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 จะได้มีเจตนาร่วมกระทำผิดกับจำเลยที่ 1 การกระทำของจำเลยที่ 2 คงเป็นเพียงความผิดฐานแจ้งความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137 ซึ่งมีอัตราโทษเบากว่าเท่านั้น ปัญหานี้แม้จะไม่มีฝ่ายใดฎีกา แต่เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ซึ่งศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นอ้างและแก้ไขให้ถูกต้อง และกำหนดโทษให้เหมาะสมได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225, 192 วรรคท้าย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่  605/2546
ป.อ. มาตรา 91
              จำเลยแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่นาย ว. ปลัดอำเภอ ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจหน้าที่ในการออกบัตรประจำตัวประชาชนโดยกรอกข้อความเท็จในแบบคำขอมีบัตรประจำตัวประชาชน และจำเลยนำแบบคำขอดังกล่าวเสนอนาย ส. พนักงานเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบเพื่อให้ดำเนินการออกบัตรประจำตัวประชาชน อันเป็นเอกสารราชการให้แก่นาย ง. และนางสาว ก. โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่นาย ว. นาย ส. ซึ่งเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ ผู้อื่น และประชาชน เป็นการกระทำผิด โดยมีเจตนาเพื่อช่วยเหลือบุคคลสองคนให้ได้รับบัตรประจำตัวประชาชน แม้จะกระทำในวันเดียวกันสถานที่เดียวกัน แต่เจตนาในการกระทำผิดเป็นคนละส่วนแยกต่างหากจากกัน การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดหลายกรรม มิใช่กรรมเดียว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  5449/2540
ป.อ. มาตรา 172, 173, 179, 352
          จำเลยเป็นพนักงานเก็บเงินของบริษัทผู้เสียหายเก็บเงินจากลูกค้า แล้วยักยอกไป โดยจำเลยได้แจ้งความต่อพนักงานสอบสวนว่ามีคนร้ายใช้อาวุธปืนและมีดจี้บังคับปล้นเอาเงินจำนวน 74,320 บาท ซึ่งเป็นของผู้เสียหายและบางส่วนเป็นของจำเลยไป โดยไม่มีการปล้นทรัพย์เกิดขึ้น แต่จำเลยทำพยานหลักฐานเท็จด้วยการใช้ท่อนไม้ทุบรถจักรยานยนต์ของจำเลยและแจ้งข้อความเท็จแก่พนักงานสอบสวนว่าได้มีการปล้นทรัพย์ จำเลยจึงมีความผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับความผิดอาญา แจ้งความเท็จว่าได้มีการกระทำความผิดเกิดขึ้นและทำพยานหลักฐานอันเป็นเท็จ.