วันศุกร์ที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

ต่อสู้ขัดขวางในขณะตรวจค้น ม.138

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8722/2555
ป.วิ.อ. มาตรา 93
ป.อ. มาตรา 136, 138 วรรคสอง, 367
              ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 93 บัญญัติว่า “ห้ามมิให้ทำการค้นบุคคลใดในที่สาธารณสถาน เว้นแต่พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจเป็นผู้ค้น ในเมื่อมีเหตุอันควรสงสัยว่าบุคคลนั้นมีสิ่งของในความครอบครองเพื่อจะใช้ในการกระทำความผิด หรือซึ่งได้มาโดยการกระทำความผิด หรือซึ่งมีไว้เป็นความผิด” แสดงว่า พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจจะทำการค้นบุคคลใดในที่สาธารณสถานไม่ได้ เว้นแต่ จะเข้าข้อยกเว้นของกฎหมายดังกล่าว
              เมื่อข้อเท็จจริงจากภาพถ่ายและแผนที่บริเวณสถานที่เกิดเหตุปรากฏว่า บริเวณที่เกิดเหตุอยู่บนถนนสุทธาวาส ไม่ได้อยู่หลังซอยโรงถ่านตามที่สิบตำรวจโทกรุงและสิบตำรวจตรีไพรัตน์อ้างว่ามีอาชญากรรมประเภทความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พระราชบัญญัติอาวุธปืน และความผิดเกี่ยวกับทรัพย์เป็นประจำเกิดขึ้นประจำแต่อย่างใด และจำเลยไม่มีท่าทางเป็นพิรุธ คงเพียงแต่นั่งโทรศัพท์อยู่เท่านั้น การที่สิบตำรวจโทกรุงและสิบตำรวจตรีไพรัตน์อ้างว่าเกิดความสงสัยในตัวจำเลยจึงขอตรวจค้น โดยไม่มีเหตุผลสนับสนุนว่าเพราะเหตุใดจึงเกิดความสงสัยในตัวจำเลย จึงเป็นข้อสงสัยที่อยู่บนพื้นฐานของความรู้สึกเพียงอย่างเดียว ถือไม่ได้ว่ามีเหตุอันควรสงสัยตามกฎหมายดังกล่าวที่จะทำการตรวจค้นได้ การตรวจค้นตัวจำเลยจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย
             จำเลยซึ่งถูกกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงมีสิทธิโต้แย้งและตอบโต้เพื่อป้องกันสิทธิของตน ตลอดจนเพิกเฉยไม่ปฏิบัติตามคำสั่งใด ๆ อันสืบเนื่องจากการปฏิบัติที่ไม่ชอบดังกล่าวได้ การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ ฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานโดยใช้กำลังประทุษร้าย และฐานไม่ยอมบอกชื่อหรือที่อยู่แก่เจ้าพนักงานซึ่งถามเพื่อปฏิบัติการตามกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9949/2553
ป.อ.  การป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย (มาตรา 68)
ป.วิ.อ. มาตรา 93 การค้นในที่สาธารณสถาน
               จากคำเบิกความของผู้เสียหายปรากฏแต่เพียงว่า ผู้เสียหายแต่งกายในเครื่องแบบ มีอาวุธปืนติดตัว ขณะขับรถจักรยานยนต์สายตรวจออกตรวจท้องที่มาถึงบริเวณหน้าที่ทำการไปรษณีย์ พบจำเลยยืนอยู่กับกะเทยคนหนึ่งในบริเวณลานหน้าอาคารที่ทำการไปรษณีย์ สาขาศรีราชา ในเวลาวิกาลเท่านั้น ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่ามีเหตุอันควรสงสัยว่าจำเลยมีสิ่งของในความครอบครองเพื่อจะใช้ในการกระทำความผิด หรือซึ่งได้มาโดยการกระทำความผิด หรือซึ่งมีไว้เป็นความผิด อันจะเป็นเหตุให้เข้าตรวจค้นตัวจำเลยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 93
              การที่ผู้เสียหายเข้าตรวจค้นตัวจำเลยจึงเป็นการมิชอบ เมื่อจำเลยไม่ยินยอมให้ตรวจค้นโดยใช้มือปัดป้องและวิ่งหลบหนีไปที่รถจักรยานยนต์และพยายามจะขับรถจักรยานยนต์หลบหนี ผู้เสียหายวิ่งติดตามไปทันและดึงกุญแจรถจักรยานยนต์ออก จากนั้น จำเลยลงจากรถจักรยานยนต์แล้ววิ่งไปที่บริเวณด้านหลังที่ทำการไปรษณีย์ ผู้เสียหายเข้ายึดรถจักรยานยนต์ขับไปจอดหน้า ป.คอนโดมิเนียม โดยอ้างว่า จะนำไปฝากพนักงานรักษาความปลอดภัยไว้ก็ตาม ก็ไม่ปรากฏว่ายึดเพื่อเหตุใด อันจะเป็นการยึดได้ตามกฎหมาย การยึดไว้เช่นนี้ จึงเป็นการไม่ชอบเช่นกัน
              จำเลยซึ่งเป็นผู้ครอบครองรถจักรยานยนต์ย่อมมีสิทธิติดตามเอาคืนได้ทันที การที่จำเลยหวนกลับมาและเห็นผู้เสียหายนั่งคร่อมรถจักรยานยนต์ของจำเลยอยู่ แล้วใช้ไม้ของกลางที่หามาได้ในบริเวณที่เกิดเหตุตีผู้เสียหายที่ขอบหมวกไฟเบอร์กับบริเวณกกหู และตีบริเวณกลางหลังและที่แขนซ้ายของผู้เสียหายเป็นเหตุให้กระดูกแขนซ้ายหักในขณะนั้น เพื่อจะเอารถคืนในขณะที่ผู้เสียหายมีอาวุธปืน การที่จำเลยใช้ไม้ตีผู้เสียหาย จึงเป็นการป้องกันทรัพย์สินโดยมีเหตุผลสมควร

วันจันทร์ที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2559

พยาบาลละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ม.157

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1886/2523
ป.อ. มาตรา 56 , 157
ป.วิ.อ. มาตรา  219
           จำเลยรับราชการเป็นพยาบาลประจำโรงพยาบาล ได้ตรวจชันสูตรบาดแผลของ เด็กหญิง พ. ซึ่งถูกข่มขืนกระทำชำเรา ละเว้นไม่ส่งซับน้ำในช่องคลอดของ เด็กหญิง พ. ไปหาเชื้อของน้ำอสุจิตามระเบียบ และกรอกข้อความลงในรายงานผลการตรวจชันสูตรเอาเอง กับได้ส่งมอบรายงานผลการตรวจให้พนักงานสอบสวนไป เด็กหญิง พ. ย่อมเป็นผู้เสียหายและได้รับความเสียหายเพราะการกระทำของจำเลยแล้ว จำเลยมีความผิดตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157
            ในคดีที่ฎีกาได้แต่ปัญหาข้อกฎหมาย เมื่อปรากฏว่าจำเลยอายุ 57 ปี รับราชการเป็นพยาบาลไม่เคยกระทำผิดมาก่อนโดยพฤติการณ์และเหตุผลแห่งรูปคดีมีเหตุสมควรศาลฎีกาย่อมมีอำนาจเปลี่ยนแปลงดุลพินิจในการวางโทษจำคุกที่ศาลอุทธรณ์กำหนดไว้โดยให้รอการลงโทษไว้ได้

วันพฤหัสบดีที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2559

ตรวจรับงานจ้างโดยมิชอบ ม.157

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  ๕๕๗๕ - ๕๕๘๒ /๒๕๕๔ 
ป.อ. มาตรา ๑๕๗ , ๑๖๒ (๑)
ป.วิ.อ. มาตรา ๑๙๒ วรรคหนึ่ง
              ขณะเกิดเหตุ จำเลยที่ ๑ ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริหารองค์การบริหารส่วนตำบลผู้เสียหาย มีฐานะเป็นเจ้าพนักงานตาม ป.วิ.อ. ตาม พ.ร.บ.สภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบลฯ มีคำสั่งอนุมัติให้จ่ายเงินตามฎีกาเบิกเงินในโครงการ โดยไม่มีการวางท่อระบายน้ำตามสัญญา และไม่มีการแก้ไขสัญญาให้ถูกต้อง ถือเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหายตาม ป.อ. มาตรา ๑๕๗ แต่เมื่อจำเลยที่ ๑ ไม่มีหน้าที่ทำเอกสารหรือกรอกข้อความในเอกสาร จึงไม่มีความผิดตาม ป.อ. มาตรา ๑๖๒ (๑)
              จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๘ ได้รับแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการควบคุมงานและกรรมการตรวจการจ้าง มีหน้าที่รับผิดชอบในการตรวจและควบคุมงานให้เป็นไปตามแบบรูปรายการละเอียดและข้อกำหนดในสัญญาจ้างแต่ละโครงการ เมื่องานในแต่ละโครงการทำไม่เสร็จครบถ้วนตามสัญญา จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๘ กลับลงลายมือชื่อในใบควบคุมงานและเอกสารการตรวจการจ้างเป็นเท็จ ว่ามีการทำงานถูกต้องครบถ้วนตามสัญญา การกระทำดังกล่าวเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา ๑๕๗ และมาตรา ๑๖๒ (๑)
             โจทก์แยกฟ้องคดีเป็นแปดสำนวน และมิได้ขอให้นับโทษจำเลยในแต่ละสำนวนติดต่อกัน แม้จะรวมการพิจารณาและพิพากษาคดีทั้งแปดสำนวนเข้าด้วยกัน ก็นับโทษจำเลยในแต่ละสำนวนติดต่อกันไม่ได้ เพราะเป็นการเกินคำขอไม่ชอบตาม ป.วิ.อ. มาตรา ๑๙๒ วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  ๙๓๖๘/๒๕๕๒
ป.อ. มาตรา ๘๓ , ๘๖ , ๑๕๗
ป.วิ.อ. มาตรา ๑๙๒
               จำเลยที่ ๑ รับราชการตำแหน่งหัวหน้าส่วนโยธา องค์การบริหารส่วนตำบลหัวลำ ช่วยราชการองค์การบริหารส่วนตำบลซับจำปา ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้ควบคุมงาน จำเลยที่ ๒ เป็นกำนันตำบลซับจำปา และเป็นกรรมการบริหารองค์การบริหารส่วนตำบลซับจำปา ได้รับแต่งตั้งเป็นประธานกรรมการตรวจการจ้าง จำเลยทั้งสองจึงมีหน้าที่ตรวจผลการปฏิบัติและตรวจรับงานตามสัญญาจ้าง โดยจำเลยทั้งสองทราบแต่แรกแล้วว่างานจ้างเหมาก่อสร้างถนนตามสัญญามีความยาว ๑,๓๕๐ เมตร
              การที่จำเลยที่ ๑ ไม่ออกไปตรวจสอบการก่อสร้าง ทำให้เกิดความเสียหาย เพราะหากจำเลยที่ ๑ ไปตรวจย่อมทราบได้ว่าถนนที่ก่อสร้างเสร็จมีความยาวเพียงประมาณ ๑,๐๒๔ เมตร การที่จำเลยทั้งสองปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทำหลักฐานเท็จด้วยเจตนาพิเศษที่จะก่อให้เกิดความเสียหายแก่องค์การบริหารส่วนตำบลซับจำปา และเป็นการกระทำโดยทุจริต ทำให้องค์การบริหารส่วนตำบลซับจำปาต้องจ่ายเงินค่าจ้างเกินไป และมีผู้ได้ประโยชน์อันมิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายเป็นค่าก่อสร้างที่เกินไปจากความจริง แม้ภายหลังจำเลยที่ ๒ จะนำเงินค่ารับจ้างส่วนที่รับเกินไปมาคืน ก็เนื่องมาจากองค์การบริหารส่วนตำบลซับจำปาแจ้งเรียกเงินคืน จำเลยทั้งสองจึงมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา ๑๕๗  จำเลยที่ ๒ มิได้เป็นเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ไม่อาจเป็นตัวการในการกระทำความผิดร่วมกับจำเลยที่ ๑ แต่การที่จำเลยที่ ๒ จัดทำบันทึกประจำวันและผลการปฏิบัติงานฉบับใหม่มาให้จำเลยที่ ๑ ลงชื่อย่อมลงโทษจำเลยที่ ๒ ฐานเป็นผู้สนับสนุนจำเลยที่ ๑ ในการกระทำผิดได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  ๗๗๗๖/๒๕๔๐
ป.อ. มาตรา ๑๕๒ , ๑๕๗
              จำเลยที่ ๑ เป็นปลัดสุขาภิบาลได้รับคำสั่งแต่งตั้งจากสุขาภิบาล ให้เป็นผู้ตรวจงานจ้าง ในการจ้างเหมาขุดลอกและล้างทางระบายน้ำในเขตสุขาภิบาล จำเลยที่ ๑ ได้เข้าดำเนินการขุดลอกและล้างทางระบายน้ำ โดยใช้คนงานของสุขาภิบาลทำงานให้จำเลยที่ ๑ เป็นผู้มีหน้าที่จัดการและดูแลกิจการของสุขาภิบาล เมื่อจำเลยที่ ๑ เข้ามีส่วนได้เสียเพื่อประโยชน์สำหรับตนเองและผู้อื่นเนื่องด้วยกิจการดังกล่าว โดยจ่ายค่าจ้างคนงานเพียง ๑,๗๕๐ บาท แต่เบิกเงินค่าจ้างตามสัญญาไป ๒,๙๐๐ บาท เป็นเหตุให้สุขาภิบาลได้รับความเสียหาย การกระทำของจำเลยที่ ๑ จึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๒ , ๑๕๗ อันเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ต้องลงโทษตามมาตรา ๑๕๒ ซึ่งเป็นบทหนัก
              จำเลยทั้งสี่ซึ่งเป็นคณะกรรมการตรวจการจ้าง ทำหลักฐานใบตรวจรับงานจ้างเสนอประธานกรรมการสุขาภิบาลว่าผู้รับจ้างได้ก่อสร้างถนนลาดยางแบบ ๒ ชั้น เสร็จเรียบร้อยและถูกต้องตามสัญญาแล้ว เห็นควรเบิกจ่ายเงินค่าจ้างให้แก่ผู้รับจ้าง ทั้ง ๆ ที่จำเลยทั้งสี่ไม่ได้ตรวจสอบการทำงานของผู้รับจ้าง จึงเป็นการไม่ปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย อันเป็นการผิดระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการพัสดุของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ.๒๕๒๘ แม้ว่าการตรวจการก่อสร้างถนนลาดยางจะต้องอาศัยผู้มีความรู้เป็นพิเศษเนื่องจากมองดูด้วยตาจะไม่สามารถรู้ได้ว่ามีการลาดยาง ๑ ชั้น หรือ ๒ ชั้น แต่ถ้าจำเลยทั้งสี่ออกไปควบคุมดูแลและเอาใจใส่ในการตรวจสอบตามขั้นตอน ก็ย่อมสามารถให้ผู้รับจ้างปฏิบัติให้ถูกต้องครบถ้วนตามสัญญาและแบบแปลนได้ การที่ปล่อยให้ผู้รับจ้างก่อสร้างถนนโดยลาดยางเพียงชั้นเดียว เป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเป็นเหตุให้สุขาภิบาลอนุมัติให้จ่ายค่าจ้างแก่ผู้รับจ้างไปมากกว่าปริมาณของงานที่ได้รับ จำเลยทั้งสี่จึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๗

วันพุธที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2559

รับรองเอกสารหลักฐานอันเป็นเท็จ ม.162

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 802/2562
ป.อ. มาตรา 162
               การกระทำที่จะเป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานทำเอกสารอันเป็นเท็จ ตาม ป.อ. มาตรา 162 นั้น ผู้กระทำหาต้องมีมูลเหตุชักจูงใจหรือเจตนาพิเศษเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือต้องกระทำโดยทุจริตไม่ และไม่จำต้องพิจารณาถึงผลการกระทำว่าเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายอย่างหนึ่งอย่างใดขึ้นหรือไม่ หากผู้กระทำเป็นเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ทำเอกสาร รับเอกสารหรือกรอกข้อความลงในเอกสาร รับรองว่ามีการกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดได้กระทำต่อหน้าตน หรือรับรองเป็นหลักฐานซึ่งข้อเท็จจริงอันเอกสารนั้นมุ่งพิสูจน์ความจริงว่ามีข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งอย่างใดเกิดขึ้น แต่เป็นความเท็จ
               คดีเมื่อได้ความจากคำเบิกความของ พ. เจ้าหน้าที่ฝ่ายพัสดุซึ่งมีโต๊ะทำงานอยู่ติดกับจำเลยที่ 2 ว่า ในวันยื่นซองสอบราคานั้น มี ร. คนเดียวนำซองมายื่น 3 ซอง ซึ่งเป็นซองของบริษัท ป. จำกัด ห้างหุ้นส่วนจำกัด ร. และห้างหุ้นส่วนจำกัด อ. โดยในเอกสารกลับมีลายมือชื่อของ ม. และ อ. หุ้นส่วนผู้จัดการของห้างลงลายมือชื่อว่าเป็นผู้ยื่นเอกสาร โดยในช่องด้านบนของเอกสาร จำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อรับรองโดยมีข้อความเป็นสาระสำคัญในตอนท้ายว่า ม. และ อ. หุ้นส่วนผู้จัดการของทั้งสองห้างเป็นผู้มายื่นซองด้วยตัวเอง อันเป็นความเท็จ เมื่อจำเลยที่ 2 รับรองเป็นหลักฐานว่า ม. และ อ. นำซองมายื่นต่อหน้าตน และใบรับซองสอบราคาเป็นเอกสารที่มุ่งพิสูจน์ความจริงว่า เจ้าของซองนำซองมายื่นจริงซึ่งเป็นความเท็จ เพราะบุคคลทั้งสองไม่ได้นำซองมายื่นด้วยตนเอง การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงเป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานทำเอกสารอันเป็นเท็จตาม ป.อ. มาตรา 162

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  4532/2548
ป.อ. มาตรา 90, 157, 161, 162 (1), 265
              การที่จำเลยนำสมุดบันทึกการประชุมในวันที่ 15 และ 19 สิงหาคม 2538 ไปให้ จ. และ ส. ลงลายมือชื่อในบันทึกการประชุม ทั้งที่ไม่ได้มีการประชุม และบันทึกรายงานการประชุมดังกล่าวระบุว่า ร. เป็นผู้จดรายงานการประชุม การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานปลอมเอกสาร โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ ร. ผู้ที่ไม่ได้เข้าร่วมประชุม แต่มีชื่อเข้าร่วมประชุม และประชาชนทั่วไปในตำบลท่าเรือ ทั้งเอกสารที่ทำปลอมขึ้นนั้น เป็นบันทึกรายงานการประชุมของสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลท่าเรือ เป็นการปฏิบัติหน้าที่ของสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลในราชการส่วนท้องถิ่น จึงเป็นการปลอมเอกสารราชการตาม ป.อ. มาตรา 265
               เมื่อจำเลยซึ่งเป็นประธานกรรมการบริหารองค์การบริหารส่วนตำบลท่าเรือ มีหน้าที่ขออนุมัติข้อบังคับงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2538 จากสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลท่าเรือ เพื่อนำเสนอนายอำเภอเมืองนครศรีธรรมราชอนุมัติ จำเลยจึงมีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ดูแลรักษาเอกสาร กระทำการปลอมเอกสารโดยอาศัยโอกาสที่ตนมีหน้าที่นั้นตาม ป.อ. มาตรา 161
              การที่จำเลยลงลายมือชื่อรับรองสำเนารายงานการประชุมทั้งสองครั้งดังกล่าว ในสำเนาข้อบังคับเรื่องงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.2538 ว่ามีการประชุมจริง จำเลยจึงมีความผิดฐาน เป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่รับเอกสารรับรองเป็นหลักฐานว่าการอย่างใดได้กระทำต่อหน้าตนอันเป็นความเท็จตาม ป.อ. มาตรา 162 (1) และจำเลยเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่สมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลท่าเรือ และประชาชนในตำบลท่าเรือ โดยการนำงบประมาณมาจัดประมูลให้ผู้รับเหมาทำงานตามที่ตนเองต้องการ อันเป็นการแสวงหาผลประโยชน์เพื่อตนเองหรือผู้อื่นโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตตาม ป.อ. มาตรา 157
             จำเลยปลอมบันทึกการประชุม 2 ฉบับ อันเป็นความผิดฐานปลอมเอกสารราชการ เจ้าพนักงานปลอมเอกสาร ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการและเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ก็เพื่อให้นายอำเภอเมืองนครศรีธรรมราชอนุมัติข้อบังคับเรื่องงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.2538 ขององค์การบริหารส่วนตำบลท่าเรือ การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำความผิดกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  70/2542
ป.อ. มาตรา 86, 157, 162
               ป่าไม้เขตได้ให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 เป็นเจ้าหน้าที่คัดเลือกไม้ที่ไม่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจ ประเภทไม้แก่จัด มีขนาดโตเกินขนาดจำกัดมาก และอยู่ในวัยเสื่อมโทรม หรือยอดไม่สมบูรณ์ และให้ตีตราคัดเลือกอนุญาตให้ตัดฟันไม้เพื่อบำรุงป่า หรือ บร. กับทำบัญชีคัดเลือกไม้เสนอผู้บังคับบัญชา แล้วป่าไม้เขตจะได้ประมูลหาผู้รับจ้างตัดโค่นและซื้อไม้ดังกล่าว โดยแต่งตั้งให้จำเลยที่ 5 ถึงที่ 9 และที่ 11 ถึงที่ 15 ไปทำการตรวจวัดตีตรารัฐบาลขาย หรือ รข. เป็นการอนุญาตให้ชักลากไม้ได้ โดยจำเลยที่ 5 ถึงที่ 9 และที่ 11 ถึงที่ 15 จะต้องตีตราเฉพาะไม้ที่มีตรา บร. เท่านั้น และจะต้องตรวจดูว่า จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ตีตราต้นไม้ถูกต้องหรือไม่ หากไม่ถูกต้อง จะตีตรา รข. ไม่ได้ และจะต้องรายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบ
               แต่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 กลับตีตราไม้ที่ดีมีค่าทางเศรษฐกิจเป็นการขัดคำสั่ง ไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เกิดความเสียหายแก่กรมป่าไม้และรัฐ เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ทำบัญชีสำรวจคัดเลือกตีตราไม้เสนอผู้บังคับบัญชา ซึ่งไม่เป็นความจริง จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ทำเอกสารดังกล่าว จึงมีความผิดฐานรับรองเป็นหลักฐานว่าได้กระทำการตามที่ระบุในเอกสารขึ้นอันเป็นความเท็จตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 162 (1)
               จำเลยที่ 16 ซึ่งเป็นบริษัทจำกัด มีจำเลยที่ 17 เป็นกรรมการ ได้ทำสัญญาตัดฟันไม้และซื้อไม้เหล่านั้นกับกรมป่าไม้ โดยจำเลยที่ 16 ได้มอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 ดำเนินการตัดฟันไม้แทน และจำเลยที่ 5 ถึงที่ 9 และที่ 11 ถึงที่ 15 ได้ตีตราไม้ที่ยังไม่มีตรา บร. แสดงว่าเป็นไม้ที่ยังไม่ได้รับการคัดเลือกจากจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเกิดความเสียหายแก่กรมป่าไม้และรัฐตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157
               การที่จำเลยที่ 5 ถึงที่ 9 และที่ 11 ถึงที่ 15 เป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ทำเอกสารได้ทำบัญชีรับรองเป็นหลักฐานว่าตนได้ตีตรา รข. บนไม้ที่มีการคัดเลือกแล้วทุกต้น อันเป็นความเท็จ จำเลยที่ 5 ถึงที่ 9 และที่ 11 ถึงที่ 15 จึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 162 (1) ด้วย
               ขณะที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ตีตรา บร. คัดเลือกไม้ที่จะทำการโค่น จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ยังไม่ทราบว่าใครจะเป็นผู้ประมูล โค่นไม้และซื้อไม้ได้ ถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ที่ 16 และ ที่ 17 เป็นผู้สนับสนุนการกระทำผิดของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4
               จำเลยที่ 1 ที่ 16 และที่ 17 ตัดโค่นไม้ที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ตีตราไว้ตามสัญญาจ้างตัดโค่นและขายไม้ที่ทำไว้ จำเลยที่ 1 ที่ 16 และที่ 17 จึงไม่เป็นผู้สนับสนุนการกระทำผิด ของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 9 และที่ 11 ถึงที่ 15
               อย่างไรก็ดีปรากฏว่า ไม้ที่ตัดโค่นบางส่วนไม่มีตราของทางราชการใด ๆ เลย จำเลยที่ 1 ที่ 16 และที่ 17 จึงมีความผิดฐานร่วมกันทำไม้ และมีไม้หวงห้ามอันยังมิได้แปรรูปไว้ในครอบครองโดย ไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติป่าไม้ฯ

วันพุธที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

ต่อสู้ขัดขวางผู้ต้องช่วยเหลือเจ้าพนักงาน ม.138

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  ๗๙๘๕/๒๔๔๐
ป.อ. มาตรา ๑๓๘ , ๑๔๐
พ.ร.บ.กองอาสารักษาดินแดน พ.ศ.๒๔๙๗ มาตรา ๑๖ (๒) , ๒๙
              การกระทำที่จะเป็นความผิดฐานต่อสู้หรือขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๓๘ จะต้องเป็นการกระทำต่อเจ้าพนักงานที่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายโดยได้รับการแต่งตั้งตามวิธีการที่กฎหมายให้อำนาจและกำหนดไว้
              ตามพระราชบัญญัติกองอาสารักษาดินแดน พ.ศ.๒๔๙๗ มาตรา ๑๖ (๒) กองอาสารักษาดินแดนมีหน้าที่ทำหน้าที่ตำรวจรักษาความสงบภายในท้องที่ร่วมกับพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ และมาตรา ๒๙ เจ้าหน้าที่หรือสมาชิกกองอาสารักษาดินแดนในระหว่างทำการตามหน้าที่ ให้ถือว่าเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมายลักษณะอาญา
             ตามบทบัญญัติดังกล่าวกำหนดให้ผู้เสียหายทำงานร่วมกับพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ จึงจะมีอำนาจตามกฎหมายและให้ถือว่าผู้เสียหายเป็นเจ้าพนักงาน
              เมื่อปรากฏว่าผู้เสียหายมีหน้าที่เพียงสกัดกั้นผู้กระทำผิดต่อกฎหมาย แต่ไม่มีหน้าที่จับกุม หากจะจับกุมจะต้องมีเจ้าพนักงานตำรวจและปลัดอำเภอร่วมด้วย ดังนี้ การที่ไม่มีเจ้าพนักงานตำรวจหรือเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองร่วมกับผู้เสียหายในการจับกุมจำเลยผู้เสียหาย จึงไม่เป็นเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติการตามหน้าที่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  ๒๒๒๘/๒๕๑๕
ป.อ. มาตรา ๑๓๘ , ๒๘๙ (๓)
              โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองบังอาจร่วมกันใช้อาวุธปืนยิงต่อสู้พลตำรวจสังวาลย์ เจ้าพนักงานตำรวจกับพวก ในการกระทำการตามหน้าที่ และนายบุญเหลือ ราษฎรผู้ช่วยเหลือเจ้าพนักงานในการกระทำการตามหน้าที่ ขณะเข้าทำการจับกุมจำเลยทั้งสองในข้อหาร่วมกันชิงทรัพย์ของนายณรงค์ โดยจำเลยทั้งสองเจตนาฆ่า กระสุนปืนที่จำเลยทั้งสองร่วมกันยิงถูกนายบุญเหลือได้รับอันตรายแก่กาย ทั้งนี้ โดยจำเลยเจตนาต่อสู้ขัดขวางมิให้พลตำรวจสังวาลย์ กับพวกเจ้าพนักงานตำรวจและนายบุญเหลือ ผู้เข้าช่วยเจ้าพนักงานตำรวจ จับกุมจำเลยตามหน้าที่ได้
              การที่นายบุญเหลือ เจ้าของเรือยนต์หางยาว ขับเรือติดตามคนร้ายไปนี้ ก็เพราะพลตำรวจสังวาลย์ เจ้าพนักงานขอแรงไปให้นายบุญเหลือช่วยขับเรือของนายบุญเหลือ เพื่อพลตำรวจสังวาลย์จะได้กระทำการจับกุมคนร้ายจำเลยทั้งสองในข้อหาร่วมกันชิงทรัพย์ของนายณรงค์ อันเป็นการปฏิบัติการตามหน้าที่ เมื่อตามไปทัน จำเลยวิ่งหนีขึ้นตลิ่ง นายบุญเหลือจอดเรือแล้ววิ่งไล่ตามคนร้ายไปโดยได้แยกกันกับพลตำรวจสังวาลย์ แล้วนายบุญเหลือถูกจำเลยยิงเอา การที่นายบุญเหลือเข้าช่วยเจ้าพนักงานเช่นนี้เป็นการเข้าช่วยโดยสมัครใจเอง ไม่ใช่เป็นกรณีที่ต้องช่วยเจ้าพนักงานตามกฎหมายในการปฏิบัติการตามหน้าที่
            ฉะนั้น การกระทำของจำเลยจึงเป็นการพยายามฆ่าผู้ช่วยเหลือเจ้าพนักงานในการที่เจ้าพนักงานนั้นกระทำการตามหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๙ (๓) , ๘๐ , ๘๓ เท่านั้น ไม่ใช่เป็นการใช้กำลังประทุษร้ายในการต่อสู้หรือขัดขวางผู้ซึ่งต้องช่วยเจ้าพนักงานตามกฎหมายในการปฏิบัติการตามหน้าที่ อันเป็นความผิดตามมาตรา ๑๓๘ ด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  ๙๘๔/๒๕๑๔
ป.อ. มาตรา ๘๐, ๘๓, ๑๓๘, ๑๔๐, ๒๘๘, ๒๘๙
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ ๑๒/๒๔๑๔)
              คืนวันเกิดเหตุ สิบตำรวจเอกสุเทพ กับสิบตำรวจโทเชื้อ แต่งเครื่องแบบตำรวจ นั่งเรือหางยาวไปตามหาเรือมาดของเจ้าทรัพย์ที่ถูกคนร้ายชิงไป โดยมีนายแสละ นายแอ และนายไข่หมัด ไปด้วย ต่อมาพบเรือนั้นจมน้ำอยู่ มีจำเลยทั้งสองนั่งเรือแจวมา สิบตำรวจเอกสุเทพว่า "นี่ตำรวจ นั่นเรืออะไร เข้ามานี่ก่อน" จำเลยรู้ว่าเป็นตำรวจแต่เบนหัวเรือหนี สิบตำรวจเอกสุเทพไล่ตาม จำเลยยิงปืนมา ๑ นัด กระสุนปืนถูกนายแสละที่เข่าขวาและกลางขาขวา เมื่อเรือตำรวจวิ่งไล่ตามเรือจำเลยต่อไปจนห่าง ๒ วา จำเลยทั้งสองกระโดดน้ำหนี
              จึงวินิจฉัยโดยที่ประชุมใหญ่ว่าจำเลยทั้งสองได้ร่วมกันกระทำผิดฐานใช้ปืนเป็นอาวุธ ต่อสู้ขัดขวางและฐานพยายามฆ่าสิบตำรวจเอกสุเทพกับพวก ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานกระทำตามหน้าที่และเป็นผู้ช่วยเหลือเจ้าพนักงานในการกระทำตามหน้าที่