วันเสาร์ที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2558

ผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จ ม.172 , 173

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1076/2551
ป.อ. มาตรา 172 , 174
             โจทก์มี พันตำรวจตรี อ. พนักงานสอบสวนเป็นพยานเบิกความยืนยันว่า จำเลยให้การเพิ่มเติมต่อพยานว่า "จำเลยเห็นนาย จ. และนาย ธ. กระทำความผิดโดยร่วมกันใส่สารเคมีไม่ทราบว่าเป็นสิ่งใดลงไปในถังน้ำดื่ม" และก่อนจะให้จำเลยลงลายมือชื่อในบันทึกคำให้การดังกล่าว พยานได้ให้จำเลยอ่านบันทึกคำให้การด้วยตนเอง และพยานได้อ่านให้จำเลยฟังแล้ว
             แต่ต่อมาเมื่อจำเลยไปเบิกความเป็นพยานในคดีที่ฟ้องนาย จ. และนาย ธ. เป็นจำเลยของศาลชั้นต้น จำเลยกลับเบิกความยืนยันว่า จำเลยไม่เห็นเหตุการณ์ที่เคยให้การไว้ว่านาย จ. และนาย ธ. กระทำความผิด และจำเลยยังยืนยันต่อศาลด้วยว่าข้อเท็จจริงที่จำเลยให้การต่อพยานว่าจำเลยเห็นนาย จ. และนาย ธ. ร่วมกันกระทำความผิดนั้นเป็นความเท็จ นอกจากนี้ จำเลยเองก็นำสืบรับว่าจำเลยให้การต่อพนักงานสอบสวน 2 ครั้ง โดยครั้งแรกจำเลยให้การว่า ไม่เห็นบุคคลใดกระทำความผิด ต่อมาอีก 2 เดือน พนักงานสอบสวนไปสอบสวนจำเลยที่บริษัทอีกครั้งหนึ่ง จำเลยจึงให้การต่อพนักงานสอบสวนว่าจำเลยเห็นเหตุการณ์เพราะกลัวจะถูกไล่ออกจากงาน แต่ความจริงจำเลยไม่เห็นเหตุการณ์ ทั้งคำเบิกความของจำเลยเองก็เป็นการยอมรับแล้วว่า ความจริงจำเลยไม่รู้เห็นเหตุการณ์ในการกระทำความผิดของนาย จ. และนาย ธ. ส่วนที่จำเลยไปให้การต่อพนักงานสอบสวนว่า จำเลยเห็นนาย จ. และนาย ธ. ร่วมกันกระทำความผิดนั้นเป็นความเท็จ
              ดังนี้ ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า จำเลยได้แจ้งข้อความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับความผิดอาญาต่อพนักงานสอบสวนจริง และการแจ้งของจำเลยดังกล่าวทำให้นาย จ. และนาย ธ. ถูกดำเนินคดีในข้อหาร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนและเอาของมีพิษหรือสิ่งอื่นที่น่าจะเป็นอันตรายแก่สุขภาพเจือลงในน้ำที่มีอยู่หรือจัดไว้เพื่อประชาชนบริโภค
              จำเลยมีตัวจำเลยเบิกความลอย ๆ เพียงปากเดียวว่า ที่จำเลยให้ถ้อยคำอันเป็นเท็จต่อพนักงานสอบสวนเพราะกลัวถูกออกจากงาน โดยอ้างว่าก่อนจำเลยให้การต่อพนักงานสอบสวน พนักงานสอบสวนได้พูดคุยกับนาย ส. ผู้ช่วยผู้จัดการซึ่งเป็นหัวหน้างานของจำเลยว่า หากจำเลยไม่ให้การว่าเห็นเหตุการณ์จะไล่จำเลยออกจากงาน แต่จำเลยก็ไม่นำนาย ส. มาเบิกความยืนยันว่าพนักงานสอบสวนได้พูดกับนาย ส. ตามที่จำเลยอ้างหรือไม่
             นอกจากนี้ข้อเท็จจริงยังปรากฏอีกว่า ในคดีที่ฟ้องนาย จ. และจำเลยไปเบิกความเป็นพยานโจทก์ จำเลยก็มิได้อ้างว่า จำเลยให้ถ้อยคำอันเป็นเท็จต่อพนักงานสอบสวนเพราะถูกข่มขู่ หรือกลัวว่าจะถูกไล่ออกจากงาน ส่วนในคดีที่ฟ้องนาย ธ. และจำเลยไปเบิกความเป็นพยานโจทก์  จำเลยกลับเบิกความว่า ที่จำเลยให้ถ้อยคำอันเป็นเท็จต่อพนักงานสอบสวนเนื่องจากกลัวว่านาย พ. ซึ่งเป็นหัวหน้าแผนกจะให้จำเลยออกจากงานแต่นาย พ. ก็ไม่ได้ข่มขู่จำเลย ซึ่งไม่ตรงกับที่จำเลยนำสืบต่อสู้ในคดีนี้ รวมทั้งจำเลยยังเบิกความด้วยว่าพนักงานสอบสวนหรือเจ้าพนักงานตำรวจไม่เคยข่มขู่หรือขู่เข็ญจำเลยให้ให้การแต่อย่างใด
             ดังนี้ ข้ออ้างของจำเลยที่ว่า จำเลยให้ถ้อยคำอันเป็นเท็จต่อพนักงานสอบสวนเพราะถูกข่มขู่ จึงไม่มีน้ำหนักที่จะรับฟัง พยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักมั่นคงรับฟังได้ว่า จำเลยแจ้งข้อความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับความผิดอาญาต่อพนักงานสอบสวนและเป็นการแจ้งโดยมีเจตนาที่จะแกล้งให้นาย จ. และนาย ธ. ได้รับโทษฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนและเอาของมีพิษหรือสิ่งอื่นที่น่าจะเป็นอันตรายแก่สุขภาพเจือลงในน้ำที่มีอยู่หรือจัดไว้เพื่อประชาชนบริโภค
             การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 172 และมาตรา 174 วรรคสอง และความผิดดังกล่าวนี้เป็นความผิดสำเร็จเมื่อพนักงานสอบสวนได้ทราบข้อความที่จำเลยแจ้ง พนักงานสอบสวนจะทราบว่าข้อความที่จำเลยแจ้งเป็นความเท็จหรือไม่ คดีที่ผู้ต้องหาถูกฟ้องว่ากระทำความผิดเนื่องจากการแจ้งข้อความอันเป็นเท็จของจำเลยนั้น ศาลจะมีคำพิพากษาอย่างไร และถึงที่สุดแล้วหรือไม่ หาใช่ข้อสำคัญที่จะฟังว่าจำเลยกระทำความผิดหรือไม่ ฉะนั้น แม้โจทก์จะไม่อ้างส่งสำนวนคดีที่ฟ้องนาย จ. และนาย ธ. ต่อศาลชั้นต้น และคำพิพากษาของศาลในคดีดังกล่าวเป็นพยาน ก็หามีผลทำให้พยานโจทก์ขาดน้ำหนักที่จะรับฟังหรือเป็นพิรุธสงสัยไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  1706/2546
ป.อ. มาตรา 137, 172
ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย, 195 วรรคสอง, 225
           เมื่อมันสำปะหลังที่ขุดเป็นของโจทก์ที่ 1 ที่ปลูกในที่ดินเกิดเหตุ โดยจำเลยทั้งสองมิได้เป็นผู้ปลูก การที่จำเลยที่ 1 ไปแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนว่าโจทก์ทั้งสี่ลักทรัพย์มันสำปะหลังที่ตนปลูกจึงเป็นการแจ้งข้อความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับความผิดอาญาแก่พนักงานสอบสวนซึ่งทำให้โจทก์ทั้งสี่เสียหาย จำเลยที่ 1 ย่อมมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 172 หาใช่เป็นเรื่องขาดเจตนาไม่
           ส่วนจำเลยที่ 2 ไปให้การเป็นพยานต่อพนักงานสอบสวนยืนยันว่าตนร่วมปลูกมันสำปะหลังกับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นความเท็จ โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 จะได้มีเจตนาร่วมกระทำผิดกับจำเลยที่ 1 การกระทำของจำเลยที่ 2 คงเป็นเพียงความผิดฐานแจ้งความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137 ซึ่งมีอัตราโทษเบากว่าเท่านั้น ปัญหานี้แม้จะไม่มีฝ่ายใดฎีกา แต่เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ซึ่งศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นอ้างและแก้ไขให้ถูกต้อง และกำหนดโทษให้เหมาะสมได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225, 192 วรรคท้าย

วันเสาร์ที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2558

หลบหนีจากที่คุมขัง ม.190

คำพิพากษาฎีกาที่ 4915/2537 
ป.อ. มาตรา 80, 190 วรรคแรก
              จำเลยเป็นผู้ต้องหาในคดีชิงทรัพย์ถูกคุมขังอยู่ที่ห้องขังของสถานีตำรวจ นายดาบตำรวจ ส. เสมียนคดี แจ้งความประสงค์ต่อนายดาบตำรวจ ก. ซึ่งปฏิบัติหน้าที่สิบเวรว่าได้รับคำสั่งจากพันตำรวจตรี ส. พนักงานสอบสวนให้มาพิมพ์ลายนิ้วมือของจำเลย นายดาบตำรวจ ก. จึงให้สิบตำรวจตรี ป. ช่วยควบคุมดูแลด้วย แล้วนายดาบตำรวจ ก. ไขกุญแจห้องขังเปิดประตูเพื่อใส่กุญแจมือจำเลยก่อนนำจำเลยออกจากห้องขัง แต่จำเลยวิ่งสวนทางออกมา โดยนายดาบตำรวจ ก. ไม่สามารถคว้าข้อมือจำเลยได้ทัน สิบตำรวจตรี ป. คว้าคอเสื้อจำเลยไว้แต่จำเลยดิ้นหลุดไปได้และวิ่งหลบหนีลงไปทางบันไดของสถานีตำรวจ สิบตำรวจตรี ฉ. ซึ่งยืนอยู่ตรงที่พักบันไดประสบเหตุดังกล่าว จึงเข้าสกัดจับจำเลยไว้ได้ โดยมีนายดาบตำรวจ ก. และสิบตำรวจตรี ป. เข้าช่วยในการจับกุมด้วย
              เห็นว่านายดาบตำรวจ ก. ปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ควบคุมจำเลยไว้ในห้องขังสถานีตำรวจดังกล่าวอันเป็นการควบคุมที่เจ้าพนักงานตำรวจจัดกำหนดขอบเขตเอาไว้ เมื่อจำเลยออกจากขอบเขตดังกล่าวโดยผู้มีอำนาจควบคุมจำเลยยังมิได้อนุญาตในลักษณะของการวิ่งหลบหนีออกมาพ้นเขตควบคุมแล้ว ไม่ว่าเจ้าพนักงานตำรวจจะติดตามจับกุมจำเลยได้หรือไม่ก็ตาม การกระทำของจำเลยย่อมเป็นการหลบหนีไปในระหว่างที่ถูกคุมขังของเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญาเป็นความผิดสำเร็จแล้ว ไม่จำเป็นต้องหลบหนีให้พ้นออกไปจากตัวอาคารของสถานีตำรวจดังกล่าว จึงจะถือว่าการหลบหนีสำเร็จดังจำเลยกล่าวอ้าง

คำพิพากษาฎีกาที่ 772/2536 
ป.อ. มาตรา 190, 288, 371, 376
พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 8 ทวิ, 72 ทวิ
               หลังจากจำเลยใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายถึงแก่ความตายแล้ว จำเลยได้เข้ามอบตัวต่อพันตำรวจโท บ. พันตำรวจโท บ. สอบปากคำจำเลย จำเลยขออนุญาตกลับไปเปลี่ยนเสื้อผ้าที่บ้านเพราะเสื้อผ้าเปื้อนเลือด พันตำรวจโท บ. ขับรถยนต์ไปส่งจำเลยที่บ้าน เมื่อไปถึงบ้านของจำเลย จำเลยเดินเข้าไปในบ้าน พันตำรวจโท บ. นั่งคอยจำเลยอยู่ที่ห้องรับแขก กับมีเจ้าพนักงานตำรวจอีก 2 คน คอยอยู่นอกบ้าน แม้ไม่ปรากฏว่าพันตำรวจโท บ. ทำบันทึกการมอบตัวหรือแจ้งข้อหาแก่จำเลย แต่ก็ถือได้ว่าพันตำรวจโท บ. ได้คุมขังจำเลยไว้เพื่อทำการสืบสวนสอบสวนต่อไปตามอำนาจหน้าที่แล้ว การที่จำเลยไม่กลับมาพบพันตำรวจโท บ. แล้วหลบหนีออกทางประตูหลังบ้านไป ถือได้ว่าจำเลยได้หลบหนีไปจากความควบคุมของพันตำรวจโท บ. เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 190 แล้ว
              แม้ก่อนเกิดเหตุจำเลยเคยไปเก็บเงินค่าสินค้าที่ต่างอำเภอและถูกคนร้ายชิงทรัพย์ก็ตาม การที่จำเลยพาอาวุธปืนไปเก็บเงินที่อำเภอดังกล่าวในวันเกิดเหตุ ก็ถือไม่ได้ว่าเป็นกรณีมีเหตุจำเป็นและเร่งด่วนตามสมควรแก่พฤติการณ์ เพราะไม่แน่ว่าจะมีเหตุร้ายเกิดขึ้น จำเลยจึงมีความผิดฐานพาอาวุธปืนติดตัวโดยไม่ได้รับอนุญาตแต่พฤติการณ์ดังกล่าวเป็นกรณีที่สมควรลงโทษจำเลยสถานเบา

ต่อสู้ขัดขวางการจับกุม ม.138

คำพิพากษาฎีกาที่  2410/2545
ป.อ. มาตรา 83, 138
พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15, 67
               จ่าสิบตำรวจ ส. และสิบตำรวจตรี น. เจ้าพนักงานตำรวจ สภ.แม่แตง จว.เชียงใหม่ ได้ตั้งด่านตรวจยานพาหนะที่แล่นผ่านบริเวณป้อมยามบ้านแม่แสะ พบจำเลยขับรถยนต์กระบะสีน้ำเงินแล่นผ่านมา จ่าสิบตำรวจ ส. จึงส่งสัญญาณให้หยุดรถ แต่จำเลยไม่ยอมหยุดกลับขับรถแล่นผ่านไป จ่าสิบตำรวจ ส. และสิบตำรวจตรี น. จึงขับรถยนต์ไล่ติดตามไปจอดรถขวางหน้าไว้แล้วบังคับให้จำเลยหยุดรถซึ่งอยู่ห่างด่านตรวจประมาณ 800 เมตร เมื่อจำเลยจอดรถแล้วเปิดประตูรถจะหลบหนี ต้องเข้าสกัด จึงสามารถจับกุมจำเลยได้ ส่วนชายอีกคนหนึ่งที่นั่งรถมากับจำเลยได้หลบหนีไป จากการตรวจค้นภายในรถยนต์กระบะของจำเลย พบเมทแอมเฟตามีน จำนวน 5 ถุง ถุงละ 200 เม็ด ที่เบาะนั่งด้านหน้าข้างที่นั่งคนขับและพบผงเฮโรอีนตกเรี่ยราดอยู่ที่พื้นรถยนต์บริเวณที่นั่งคนขับด้วย
               จำเลยรับจ้างขับรถยนต์กระบะไปส่งคนร้ายที่มีเมทแอมเฟตามีนของกลางไว้ในครอบครองโดยจำเลยรู้จักคนร้ายที่นั่งรถมาด้วย การกระทำความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตนั้นเป็นความผิดที่เกิดขึ้นและมีอยู่ต่อเนื่องกันไปตลอดเวลา นับตั้งแต่เมื่อบุคคลผู้นั้นได้ยึดถือเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองโดยที่ไม่ได้รับอนุญาต จนกระทั่งขนเคลื่อนย้ายไป เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า คนร้ายซึ่งมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองได้มาว่าจ้างจำเลยให้ขับรถยนต์กระบะไปส่งยังจุดหมายปลายทาง โดยจำเลยรู้จักคนร้ายเป็นอย่างดี และจำเลยรู้อยู่แล้วว่าเมทแอมเฟตามีน จำนวน 1,000 เม็ด ของกลางคนร้ายจะนำไปจำหน่ายที่สถานที่ก่อสร้างในอำเภอเมืองเชียงใหม่ การที่เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยและยึดได้เมทแอมเฟตามีน จำนวน 1,000 เม็ด ของกลาง แม้จำเลยจะอ้างว่าเมทแอมเฟตามีนของกลางไม่ใช่ของจำเลย แต่การที่จำเลยรู้อยู่แล้วว่าเป็นเมทแอมเฟตามีนอันเป็นยาเสพติดให้โทษ เมื่อจำเลยรับจ้างขับรถยนต์กระบะเพื่อส่งคนร้ายโดยมียาเสพติดให้โทษนั้นอยู่ในความยึดถือหรือความปกครองดูแลของจำเลยด้วยก็ถือได้ว่าจำเลยมีเมทแอมเฟตามีนของกลางไว้ในครอบครอง เมื่อจำเลยกับคนร้ายกระทำร่วมกันเพื่อให้บรรลุตามความประสงค์ร่วมกันในการกระทำดังกล่าว โดยการกระทำแต่ละขั้นตอนเป็นสาระสำคัญก่อให้เกิดเป็นความผิดขึ้น การกระทำของจำเลยจึงถือได้ว่าเป็นตัวการมิใช่เป็นเพียงผู้สนับสนุนการกระทำความผิด
                เมื่อจำเลยขับรถยนต์กระบะมาถึงด่านตรวจบ้านแม่แสะ เจ้าพนักงานตำรวจได้ให้สัญญาณให้หยุดรถเพื่อตรวจ จำเลยไม่ยอมหยุดและได้ขับรถเลยไปจนต้องมีการไล่ติดตามเพื่อสกัดจับโดยจ่าสิบตำรวจ ส. เบิกความว่า จำเลยไม่ได้ชกต่อยทำร้ายร่างกายพยาน เพียงแต่ดิ้นรนเพื่อให้หลุดพ้นจากการจับกุมเท่านั้น ดังนี้ การที่จำเลยขับรถเลยไปไม่ยอมหยุดให้ตรวจค้นก็ดี การที่จำเลยดิ้นรนเพื่อให้หลุดพ้นจากการจับกุมก็ดี เป็นเพียงขั้นตอนหนึ่งของการจะหลบหนี เมื่อไม่ได้ความว่าจำเลยกระทำอื่นใดนอกเหนือไปจากนี้การกระทำของจำเลยจึงยังถือไม่ได้ว่าเป็นความผิดฐานต่อสู้หรือขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่