วันอังคารที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2558

แจ้งความเท็จ ม.172 ,ทำพยานหลักฐานเท็จ ม.179

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  4669/2530
ป.อ. มาตรา 172, 179
ป.วิ.อ. มาตรา 2 (7), 121, 123, 134
            จำเลยเป็นเกษตรอำเภอ ทราบจากผู้ใต้บังคับบัญชาว่า โจทก์ซึ่งเป็นผู้ช่วยเกษตรจังหวัด ได้ไปรื้อค้นสำนักงานและโต๊ะทำงานของจำเลยขณะจำเลยไม่อยู่ ปรากฏว่าเงินที่จำเลยเก็บไว้ในลิ้นชักโต๊ะทำงานสูญหายไป จำเลยย่อมมีเหตุที่จะสงสัยว่าโจทก์อาจเป็นคนร้ายลักเงินไป จึงไปแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนว่าโจทก์บุกรุกสำนักงานและลักทรัพย์ โดยแจ้งรายละเอียดและพฤติการณ์ของโจทก์พร้อมทั้งระบุด้วยว่าจำเลยทราบเรื่องจากผู้ใด
            การที่จำเลยแจ้งความดังกล่าวต่อพนักงานสอบสวนเป็นการแจ้งให้ทราบโดยชัดแจ้งแล้วว่า จำเลยได้รับทราบมาจากคำบอกเล่าของนางสาว อ. และนาง ธ. มิได้ยืนยันว่าจำเลยรู้เห็นด้วยตนเอง ข้อกล่าวหาที่ว่าโจทก์บุกรุกสำนักงาน เป็นเพียงการแสดงความเห็นไม่ใช่ยืนยันข้อเท็จจริง ฉะนั้น ถึงแม้ข้อเท็จจริงจะได้ความว่าการที่โจทก์เข้าไปในสำนักงานเกษตรอำเภอ เป็นกรณีที่โจทก์เข้าไปตรวจราชการตามอำนาจหน้าที่โดยชอบก็ตาม ก็ถือไม่ได้ว่าข้อความที่จำเลยแจ้งความกล่าวหาว่าโจทก์บุกรุกสำนักงานเป็นความเท็จ จำเลยไม่มีความผิด ตาม ป.อ. มาตรา 172
            การที่โจทก์ไปนั่งที่โต๊ะทำงานของจำเลยในขณะที่จำเลยไม่อยู่และเงินบริจาคซึ่งอยู่ในความครอบครองของจำเลยสูญหายไป จำเลยย่อมมีเหตุที่จะสงสัยว่าโจทก์อาจเป็นคนร้ายลักเงินจำนวนดังกล่าวการที่จำเลยแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนกล่าวหาว่าโจทก์ลักทรัพย์ของจำเลย โดยแจ้งรายละเอียดและพฤติการณ์ของโจทก์ตามความเป็นจริง ถึงแม้จำเลยจะไม่มีพยานหลักฐานว่าโจทก์ได้กระทำผิดตามข้อกล่าวหาของจำเลย ก็ถือไม่ได้ว่าคำแจ้งความของจำเลยเป็นความเท็จ จำเลยไม่มีความผิด
           การที่จำเลยได้ทำบันทึกเสนอต่อนายอำเภอ รายงานข้อเท็จจริงตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและรายงานการกระทำของโจทก์ตามที่ได้รับคำบอกเล่าจากนางสาว อ. และนาง ธ.  ซึ่งมีข้อความทำนองเดียวกันกับที่จำเลยแจ้งความต่อพนักงานสอบสวน ก็ถือไม่ได้ว่าบันทึกดังกล่าวเป็นการทำพยานหลักฐานอันเป็นเท็จ ตาม ป.อ. มาตรา 179
           การแจ้งข้อความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับความผิดอาญาต่อพนักงานสอบสวนซึ่งเป็นความผิดตาม ป.อ.มาตรา 172 นั้น ต้องเป็นกรณีที่ผู้แจ้งข้อเท็จจริงเป็นเท็จโดยแกล้งกล่าวข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำของผู้ถูกกล่าวหาให้ผิดไปจากความจริง ส่วนการตั้งข้อหานั้นเป็นอำนาจหน้าที่ของพนักงานสอบสวนซึ่งไม่จำเป็นต้องตั้งข้อหาตามข้อกล่าวหาของผู้แจ้งเสมอไป กรณีที่ผู้แจ้งแจ้งข้อกล่าวหาคลาดเคลื่อนจะถือว่าผู้แจ้งแจ้งข้อความอันเป็นเท็จเสมอไปหาได้ไม่

วันจันทร์ที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2558

นำสืบหรือแสดงพยานหลักฐานอันเป็นเท็จ ม.180

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  3107/2552
ป.อ. มาตรา 177, 180, 268, 90
ป.วิ.อ. มาตรา 158
              จำเลยที่ 1 ได้กระทำความผิดฐานเบิกความเท็จ พร้อมกันไปกับกระทำความผิดฐานนำสืบหรือแสดงพยานหลักฐานอันเป็นเท็จในการพิจารณาคดี และฐานใช้เอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการปลอม โดยกระทำในวันเวลาและคดีเดียวกัน การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท
              โจทก์ฟ้องข้อ 2.2 (ข้อหาใช้เอกสารปลอม) 2.3 (ข้อหานำสืบและแสดงหลักฐานเท็จ) และ 2.4 (ข้อหาเบิกความเท็จ) ว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ภาพถ่ายโฉนดเลขที่ 2601 ปลอม ประกอบคำร้องในคดีแพ่งที่จำเลยที่ 1 ร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้จำเลยที่ 1 ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 2601 โดยการครอบครองปรปักษ์ เพื่อให้ศาลชั้นต้นหลงเชื่อว่าที่ดินดังกล่าวเป็นของ ม. และมีคำสั่งให้ส่งสำเนาคำร้องให้ ม. ทำให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินไม่ทราบคำร้อง และจำเลยทั้งสองนำภาพถ่ายโฉนดปลอมดังกล่าวอ้างส่งเป็นพยานประกอบการเบิกความของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นการกระทำความผิดในเรื่องเดียวกัน แต่โจทก์แยกฟ้องเป็นรายข้อตามฐานความผิด
              แม้ในฟ้องข้อ 2.3 โจทก์จะไม่ได้บรรยายว่าประเด็นสำคัญในคดีแพ่งดังกล่าวมีว่าอย่างไร และพยานหลักฐานที่จำเลยทั้งสองร่วมกันนำสืบหรือแสดงพยานหลักฐานอันเป็นเท็จนั้นเป็นข้อสำคัญในคดีอย่างไร แต่ตามฟ้องข้อ 2.4 โจทก์ได้บรรยายฟ้องในความผิดฐานเบิกความเท็จว่า คดีแพ่งดังกล่าวมีประเด็นแห่งคดีที่ต้องพิสูจน์ว่าที่ดินโฉนดเลขที่ 2601 เป็นของ ม. จริงหรือไม่
              การที่จำเลยที่ 1 เบิกความเท็จว่า ม. เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 2601 ทำให้ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 3 หลงเชื่อว่า ม. เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ และศาลอุทธรณ์ภาค 3 มีคำสั่งให้จำเลยที่ 1 ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินโดยการครอบครองปรปักษ์บางส่วน และฟ้องข้อ 2.2 โจทก์ได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยทั้งสองนำภาพถ่ายโฉนดที่ดินปลอมเข้าเป็นเอกสารท้ายคำร้อง เพื่อให้ศาลเชื่อว่าที่ดินโฉนดเลขที่ 2601 ที่จำเลยที่ 1 ครอบครองปรปักษ์เป็นของ ม.
              เมื่ออ่านฟ้องรวมกันแล้วพอเข้าใจได้ว่าคดีแพ่งดังกล่าว มีประเด็นสำคัญแห่งคดีว่าที่ดินโฉนดเลขที่ 2601 เป็นของ ม. หรือไม่ และภาพถ่ายโฉนดที่ดินปลอมที่อ้างส่งเป็นพยานหลักฐานในข้อสำคัญแห่งคดี เพราะทำให้ศาลเชื่อว่าที่ดินตามโฉนดดังกล่าวเป็นของ ม. ฟ้องโจทก์ในความผิดฐานร่วมกันนำสืบหรือแสดงพยานหลักฐานอันเป็นเท็จในการพิจารณาคดีครบองค์ประกอบความผิดแล้ว.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  3689/2535
ป.อ. มาตรา 175, 177, 180
ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5)
              โจทก์บรรยายฟ้องว่า เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2531 เวลากลางวัน จำเลยที่ 1 นำเอาความเท็จมาฟ้องโจทก์เป็นคดีอาญาต่อศาลอาญาตามคดีหมายเลขดำที่ ช.5209/2531 ว่า โจทก์ได้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด สาขาปากคลองตลาด เลขที่ 0163240 ลงวันที่ 7 มิถุนายน 2531สั่งจ่ายเงิน 100,000 บาท ชำระหนี้แก่จำเลยที่ 1 โดยโจทก์เป็นผู้กรอกรายการและลงลายมือชื่อสั่งจ่าย ยกเว้นตรงช่องวันที่ใช้ปั๊มวันเดือนปี ซึ่งโจทก์ได้ปฏิบัติตามปกติวิสัยตลอดมาและเช็คฉบับก่อน ๆ ที่โจทก์ปฏิบัติแบบนี้เรียกเก็บเงินได้เสมอมา
             ต่อมาเมื่อจำเลยที่ 1 นำเช็คดังกล่าวไปเข้าบัญชี ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน โดยให้เหตุผลว่า "มีคำสั่งระงับการจ่าย" จำเลยที่ 1 ได้ติดตามทวงถามให้โจทก์ชำระหนี้ตามเช็คดังกล่าว แต่โจทก์เพิกเฉย และต่อมาวันที่ 3 ตุลาคม 2531 เวลากลางวัน จำเลยทั้งสองร่วมกันเบิกความเท็จต่อศาลอาญาในคดีอาญาดังกล่าว และได้นำสืบหรือแสดงพยานหลักฐานอันเป็นเท็จ โดยจำเลยที่ 1 เบิกความและนำสืบหรือแสดงพยานหลักฐานว่า เมื่อประมาณปลายเดือนเมษายน 2531 โจทก์นำเช็คธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด สาขาปากคลองตลาด ลงวันที่ 7 มิถุนายน 2531 สั่งจ่ายเงินจำนวน 100,000 บาท มาขอแลกเงินสดจากจำเลยที่ 1 ทั้งนี้ โจทก์ได้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายและกรอกรายการต่าง ๆ ต่อหน้าจำเลยที่ 1 ส่วนวันที่สั่งจ่ายได้มีการประทับมาก่อนแล้วในช่องวันที่สั่งจ่ายในเช็ค และจำเลยที่ 2 เบิกความและนำสืบหรือแสดงพยานหลักฐานว่า เมื่อประมาณปลายเดือนเมษายน 2531 ตอนบ่าย โจทก์ได้มาหาบิดาจำเลยที่ 2 แต่บิดาป่วยอยู่โรงพยาบาล โจทก์ถามหาจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 จึงไปตามจำเลยที่ 1 มาพบจำเลยที่ 2 เห็นโจทก์หยิบเช็คซึ่งได้ประทับวันที่ในช่องวันที่สั่งจ่ายในเช็ค แล้วเขียนจำนวนเงิน 100,000 บาท และลงลายมือชื่อสั่งจ่ายในเช็ค จำเลยที่ 1 รับเช็คดังกล่าวจากโจทก์ แล้วมอบเงิน 100,000 บาท ให้โจทก์ไป โดยความจริงแล้วโจทก์ไม่เคยสั่งจ่ายเช็คดังกล่าวนำไปแลกเงินสดจากจำเลยที่ 1 โจทก์มอบเช็คดังกล่าวให้แก่บิดาจำเลยทั้งสองโดยมิได้ลงวันเดือนปี เพื่อเป็นการค้ำประกัน โดยบิดาจำเลยทั้งสองตกลงว่าจะไม่นำไปเรียกเก็บเงิน จำเลยที่ 1 ไม่ใช่ผู้ทรงได้นำเช็คไปลงวันที่โดยไม่มีอำนาจ แต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน
               เห็นว่า โจทก์มิได้บรรยายเลยว่า ข้อหาที่จำเลยที่ 1 ฟ้องโจทก์เป็นคดีอาญาอันเป็นฟ้องเท็จนั้นเป็นความผิดอาญาข้อหาหรือฐานความผิดใด ทั้งคำบรรยายฟ้องในส่วนที่โจทก์คัดมาจากคำฟ้องในคดีอาญาหมายเลขดำที่ ช.5209/2531 ของศาลอาญาก็ไม่มีข้อความใดที่จำเลยที่ 1 ระบุว่าการกระทำของโจทก์เป็นการกระทำความผิดอาญาซึ่งเป็นสาระสำคัญของฟ้องในข้อหาฟ้องเท็จที่จะต้องกล่าวถึง ส่วนข้อหาเบิกความและนำสืบหรือแสดงพยานหลักฐานอันเป็นเท็จนั้น
               เมื่อไม่บรรยายว่าจำเลยทั้งสองเบิกความและนำสืบหรือแสดงพยานหลักฐานอันเป็นเท็จ ในการพิจารณาคดีในข้อหาหรือฐานความผิดใด ย่อมไม่อาจทราบได้ว่าข้อความนั้นเป็นข้อสำคัญในคดีอย่างไร ประเด็นสำคัญของคดีมีว่าอย่างไร ฟ้องของโจทก์ทั้งสามข้อหาจึงเป็นฟ้องที่ไม่ได้บรรยายถึงการกระทำที่อ้างว่าจำเลยทั้งสองได้กระทำผิดพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยทั้งสองเข้าใจข้อหาได้ดี
               แม้โจทก์ได้บรรยายเลขสำนวนคดีที่อ้างว่าจำเลยที่ 1 ฟ้องเท็จและจำเลยทั้งสองเบิกความและนำสืบหรือแสดงพยานหลักฐานอันเป็นเท็จมาในฟ้องก็ตาม แต่ข้อเท็จจริงและรายละเอียดที่ปรากฏในสำนวนคดีนั้นหาใช่ส่วนหนึ่งของคำฟ้องของโจทก์ไม่ จะนำมาประกอบคำฟ้องของโจทก์คดีนี้ให้สมบูรณ์มิได้ ฟ้องโจทก์จึงเป็นฟ้องที่ไม่สมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5)