วันพุธที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

ต่อสู้ขัดขวางผู้ต้องช่วยเหลือเจ้าพนักงาน ม.138

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  ๗๙๘๕/๒๔๔๐
ป.อ. มาตรา ๑๓๘ , ๑๔๐
พ.ร.บ.กองอาสารักษาดินแดน พ.ศ.๒๔๙๗ มาตรา ๑๖ (๒) , ๒๙
              การกระทำที่จะเป็นความผิดฐานต่อสู้หรือขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๓๘ จะต้องเป็นการกระทำต่อเจ้าพนักงานที่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายโดยได้รับการแต่งตั้งตามวิธีการที่กฎหมายให้อำนาจและกำหนดไว้
              ตามพระราชบัญญัติกองอาสารักษาดินแดน พ.ศ.๒๔๙๗ มาตรา ๑๖ (๒) กองอาสารักษาดินแดนมีหน้าที่ทำหน้าที่ตำรวจรักษาความสงบภายในท้องที่ร่วมกับพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ และมาตรา ๒๙ เจ้าหน้าที่หรือสมาชิกกองอาสารักษาดินแดนในระหว่างทำการตามหน้าที่ ให้ถือว่าเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมายลักษณะอาญา
             ตามบทบัญญัติดังกล่าวกำหนดให้ผู้เสียหายทำงานร่วมกับพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ จึงจะมีอำนาจตามกฎหมายและให้ถือว่าผู้เสียหายเป็นเจ้าพนักงาน
              เมื่อปรากฏว่าผู้เสียหายมีหน้าที่เพียงสกัดกั้นผู้กระทำผิดต่อกฎหมาย แต่ไม่มีหน้าที่จับกุม หากจะจับกุมจะต้องมีเจ้าพนักงานตำรวจและปลัดอำเภอร่วมด้วย ดังนี้ การที่ไม่มีเจ้าพนักงานตำรวจหรือเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองร่วมกับผู้เสียหายในการจับกุมจำเลยผู้เสียหาย จึงไม่เป็นเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติการตามหน้าที่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  ๒๒๒๘/๒๕๑๕
ป.อ. มาตรา ๑๓๘ , ๒๘๙ (๓)
              โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองบังอาจร่วมกันใช้อาวุธปืนยิงต่อสู้พลตำรวจสังวาลย์ เจ้าพนักงานตำรวจกับพวก ในการกระทำการตามหน้าที่ และนายบุญเหลือ ราษฎรผู้ช่วยเหลือเจ้าพนักงานในการกระทำการตามหน้าที่ ขณะเข้าทำการจับกุมจำเลยทั้งสองในข้อหาร่วมกันชิงทรัพย์ของนายณรงค์ โดยจำเลยทั้งสองเจตนาฆ่า กระสุนปืนที่จำเลยทั้งสองร่วมกันยิงถูกนายบุญเหลือได้รับอันตรายแก่กาย ทั้งนี้ โดยจำเลยเจตนาต่อสู้ขัดขวางมิให้พลตำรวจสังวาลย์ กับพวกเจ้าพนักงานตำรวจและนายบุญเหลือ ผู้เข้าช่วยเจ้าพนักงานตำรวจ จับกุมจำเลยตามหน้าที่ได้
              การที่นายบุญเหลือ เจ้าของเรือยนต์หางยาว ขับเรือติดตามคนร้ายไปนี้ ก็เพราะพลตำรวจสังวาลย์ เจ้าพนักงานขอแรงไปให้นายบุญเหลือช่วยขับเรือของนายบุญเหลือ เพื่อพลตำรวจสังวาลย์จะได้กระทำการจับกุมคนร้ายจำเลยทั้งสองในข้อหาร่วมกันชิงทรัพย์ของนายณรงค์ อันเป็นการปฏิบัติการตามหน้าที่ เมื่อตามไปทัน จำเลยวิ่งหนีขึ้นตลิ่ง นายบุญเหลือจอดเรือแล้ววิ่งไล่ตามคนร้ายไปโดยได้แยกกันกับพลตำรวจสังวาลย์ แล้วนายบุญเหลือถูกจำเลยยิงเอา การที่นายบุญเหลือเข้าช่วยเจ้าพนักงานเช่นนี้เป็นการเข้าช่วยโดยสมัครใจเอง ไม่ใช่เป็นกรณีที่ต้องช่วยเจ้าพนักงานตามกฎหมายในการปฏิบัติการตามหน้าที่
            ฉะนั้น การกระทำของจำเลยจึงเป็นการพยายามฆ่าผู้ช่วยเหลือเจ้าพนักงานในการที่เจ้าพนักงานนั้นกระทำการตามหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๙ (๓) , ๘๐ , ๘๓ เท่านั้น ไม่ใช่เป็นการใช้กำลังประทุษร้ายในการต่อสู้หรือขัดขวางผู้ซึ่งต้องช่วยเจ้าพนักงานตามกฎหมายในการปฏิบัติการตามหน้าที่ อันเป็นความผิดตามมาตรา ๑๓๘ ด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  ๙๘๔/๒๕๑๔
ป.อ. มาตรา ๘๐, ๘๓, ๑๓๘, ๑๔๐, ๒๘๘, ๒๘๙
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ ๑๒/๒๔๑๔)
              คืนวันเกิดเหตุ สิบตำรวจเอกสุเทพ กับสิบตำรวจโทเชื้อ แต่งเครื่องแบบตำรวจ นั่งเรือหางยาวไปตามหาเรือมาดของเจ้าทรัพย์ที่ถูกคนร้ายชิงไป โดยมีนายแสละ นายแอ และนายไข่หมัด ไปด้วย ต่อมาพบเรือนั้นจมน้ำอยู่ มีจำเลยทั้งสองนั่งเรือแจวมา สิบตำรวจเอกสุเทพว่า "นี่ตำรวจ นั่นเรืออะไร เข้ามานี่ก่อน" จำเลยรู้ว่าเป็นตำรวจแต่เบนหัวเรือหนี สิบตำรวจเอกสุเทพไล่ตาม จำเลยยิงปืนมา ๑ นัด กระสุนปืนถูกนายแสละที่เข่าขวาและกลางขาขวา เมื่อเรือตำรวจวิ่งไล่ตามเรือจำเลยต่อไปจนห่าง ๒ วา จำเลยทั้งสองกระโดดน้ำหนี
              จึงวินิจฉัยโดยที่ประชุมใหญ่ว่าจำเลยทั้งสองได้ร่วมกันกระทำผิดฐานใช้ปืนเป็นอาวุธ ต่อสู้ขัดขวางและฐานพยายามฆ่าสิบตำรวจเอกสุเทพกับพวก ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานกระทำตามหน้าที่และเป็นผู้ช่วยเหลือเจ้าพนักงานในการกระทำตามหน้าที่



              "มาตรา ๑๓๘  ผู้ใดต่อสู้ หรือขัดขวางเจ้าพนักงานหรือผู้ซึ่งต้องช่วยเจ้าพนักงานตามกฎหมายในการปฏิบัติการตามหน้าที่ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
               ถ้าการต่อสู้หรือขัดขวางนั้น ได้กระทำโดยใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ"

              "มาตรา ๑๔๐   ถ้าความผิดตามมาตรา ๑๓๘ วรรคสอง หรือมาตรา ๑๓๙ ได้กระทำโดยมีหรือใช้อาวุธ หรือโดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สามคนขึ้นไป ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
                ถ้ากระทำโดยอ้างอำนาจอั้งยี่หรือซ่องโจร ไม่ว่าอั้งยี่หรือซ่องโจรนั้นจะมีอยู่หรือไม่ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สองปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่สี่พันบาทถึงสองหมื่นบาท
                ถ้าความผิดตามมาตรานี้ได้กระทำโดยมีหรือใช้อาวุธปืนหรือวัตถุระเบิด ผู้กระทำต้องระวางโทษหนักกว่าโทษที่กฎหมายบัญญัติไว้ในสองวรรคก่อนกึ่งหนึ่ง"

             "มาตรา ๒๘๙ ผู้ใด
               (๑) ฆ่าบุพการี
               (๒) ฆ่าเจ้าพนักงาน ซึ่งกระทำการตามหน้าที่ หรือเพราะเหตุที่จะกระทำ หรือได้กระทำการตามหน้าที่
               (๓) ฆ่าผู้ช่วยเหลือเจ้าพนักงาน ในการที่เจ้าพนักงานนั้นกระทำตามหน้าที่ หรือเพราะเหตุที่บุคคลนั้นจะช่วยหรือได้ช่วยเจ้าพนักงานดังกล่าวแล้ว
               ...
               ต้องระวางโทษประหารชีวิต"

             "มาตรา ๒๙๐  ผู้ใดมิได้มีเจตนาฆ่า แต่ทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ผู้นั้นถึงแก่ความตาย ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี
               ถ้าความผิดนั้นมีลักษณะประการหนึ่งประการใด ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๘๙ ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงยี่สิบปี"

             "มาตรา ๒๙๖  ผู้ใดกระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกาย ถ้าความผิดนั้น มีลักษณะประการหนึ่งประการใดดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๘๙ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ"

             "มาตรา ๒๙๘  ผู้ใดกระทำความผิดตามมาตรา ๒๙๗ ถ้าความผิดนั้นมีลักษณะประการหนึ่งประการใดดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๘๙ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สองปีถึงสิบปี"
----------------------------