วันพุธที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2558

ไม่ผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จ ม.172 , 173

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2465 / 2555
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 172, 173, 174 วรรคสอง, 181 (1)
            กรณีพิพาทเป็นเรื่องที่สืบเนื่องมาจากการที่โจทก์และจำเลย ต่างโต้แย้งกันในเรื่องสัญญาซื้อขายรถยนต์พิพาท ว่าเป็นสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาดหรือไม่ จึงถือเป็นการโต้แย้งสิทธิ ในสัญญาทางแพ่ง ซึ่งทั้งโจทก์และจำเลยต่างอ้างตนว่ามีสิทธิในรถยนต์คันพิพาท ดีกว่าอีกฝ่ายหนึ่ง
            ดังนั้น การที่โจทก์และนางสาว ส. ยึดรถยนต์คันพิพาทไว้ จึงมีเหตุทำให้จำเลยเข้าใจได้ว่า โจทก์และนางสาว ส. ร่วมกันหลอกลวงให้จำเลยมาพบและยึดรถยนต์ไว้ และทำให้จำเลยเชื่อว่าตนถูกละเมิดสิทธิในทางทรัพย์สิน จึงได้ดำเนินการแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนถึงเหตุการณ์ตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น
            ข้อเท็จจริงดังกล่าวเป็นความจริงที่ทั้งโจทก์และจำเลยต่างยอมรับมิได้มีข้อความใดที่จำเลย กล่าวอ้างเป็นเท็จหรือบิดเบือนข้อเท็จจริงแต่อย่างใด ข้อความที่จำเลยแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนจึงตรงตามสภาพเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เป็นเรื่องที่จำเลยแจ้งความตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏ ส่วนการกระทำของโจทก์จะเป็นความผิดต่อกฎหมายตามที่จำเลยแจ้งหรือไม่ ไม่ใช่ข้อสำคัญ เพราะการแจ้งความย่อมหมายถึงเฉพาะข้อเท็จจริง ไม่เกี่ยวกับข้อกฎหมาย
            แม้ต่อมาพนักงานสอบสวนจะไม่ได้ดำเนินคดีแก่โจทก์ตามที่จำเลยแจ้งก็ตาม ก็ยังถือไม่ได้ว่าข้อความที่จำเลยแจ้งนั้นเป็นความเท็จ และถึงแม้จำเลยจะแจ้งต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีแก่โจทก์และนางสาว ส. ในข้อหา ร่วมกันชิงทรัพย์ ก็น่าเชื่อว่าเป็นการที่จำเลยกล่าวอ้างไปตามความเข้าใจของตน ส่วนการกระทำตามที่จำเลยแจ้งจะเป็นความผิดดังกล่าวหรือไม่ เป็นเรื่องที่พนักงานสอบสวน จะดำเนินการสอบสวนและรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อวินิจฉัยว่า การกระทำดังกล่าวจะเป็นความผิดฐานใด
            ดังนั้น เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ข้อความที่จำเลยแจ้งนั้นเป็นความจริงตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และจำเลยก็ไม่ได้มีเจตนาที่จะกลั่นแกล้งโจทก์ให้ได้รับโทษในทางอาญา การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานแจ้งความเท็จ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  5236/2549
ป.อ. มาตรา 172, 173, 174
             โจทก์ทั้งสองเบิกความยอมรับว่าได้ร่วมกับชาวบ้านเข้าไปในที่สาธารณประโยชน์โคกป่าช้าและตัดต้นไม้เพื่อจะสร้างศาลาพักศพจริง ซึ่งตรงกับที่จำเลยแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนตามสำเนารายงานประจำวันเกี่ยวกับคดี
             ดังนั้น ข้อความที่จำเลยแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนตรงตามสภาพเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น กรณีจึงเป็นเรื่องที่จำเลยแจ้งความตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏ ส่วนการกระทำของโจทก์ทั้งสองจะเป็นความผิดต่อกฎหมายตามที่จำเลยแจ้งหรือไม่ ไม่สำคัญ เพราะการแจ้งข้อความย่อมหมายถึงแจ้งเฉพาะข้อเท็จจริงไม่เกี่ยวกับข้อกฎหมาย แม้ต่อมาพนักงานสอบสวนจะได้ดำเนินคดีแก่โจทก์ทั้งสองตามที่จำเลยแจ้งและพนักงานอัยการมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดีโจทก์ทั้งสองก็ตาม ก็ยังถือไม่ได้ว่าข้อความที่จำเลยแจ้งนั้นเป็นความเท็จ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  3383/2541
ป.อ. มาตรา 173, 174
            ก่อนที่จำเลยไปแจ้งความดำเนินคดีแก่โจทก์ โจทก์ติดต่อตึกแถวให้จำเลยเช่า โจทก์ช่วยจำเลยขนย้ายทรัพย์สินไปที่ตึกแถวเลขที่ดังกล่าวโดยโจทก์ว่าจ้างนาย ป. เป็นผู้จัดหาคนงานและรถยนต์บรรทุกและโจทก์เป็นผู้ควบคุมการขนย้าย ปรากฏว่าทรัพย์สินของจำเลยหายไปหลายรายการ ต่อมา จำเลยพบโจทก์และทรัพย์สินที่หายอยู่ที่บ้านโดยคนในบ้านยอมรับว่าทรัพย์สินดังกล่าวเป็นของจำเลย แต่เมื่อจำเลยจะขนย้ายทรัพย์สินดังกล่าวคืนนาง อ. และนาย ป. ไม่ยอมให้ขนย้าย โดยอ้างว่าต้องให้โจทก์มาด้วย จำเลยจึงไปแจ้งความให้ดำเนินคดีแก่โจทก์
            แม้พนักงานสอบสวนจะดำเนินคดีแก่โจทก์ในข้อหาลักทรัพย์หรือรับของโจร แต่พนักงานอัยการมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องโจทก์ในข้อหาดังกล่าวโดยเห็นว่าหลักฐานไม่พอก็ตาม คำสั่งของพนักงานอัยการดังกล่าวเป็นเพียงความเห็นที่พิจารณาสั่งไปตามพยานหลักฐานในสำนวนการสอบสวนเท่านั้น ย่อมไม่มีผลผูกพันคดีนี้ให้ต้องพิจารณาไปตามนั้น เพราะการจะเป็นความผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จตามฟ้อง นอกจากจะต้องแจ้งข้อความอันเป็นเท็จเพื่อแกล้งให้ผู้อื่นต้องรับโทษแล้ว ผู้กระทำจะต้องรู้ว่าข้อความที่แจ้งนั้นเป็นเท็จด้วย
             แต่คดีนี้จำเลยไปแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนเป็นการแจ้งความตามเรื่องราวที่เกิดขึ้นแก่จำเลย โดยมีเหตุการณ์ทำให้จำเลยเข้าใจว่าต้องดำเนินคดีแก่โจทก์ ส่วนการจะตั้งข้อหาดำเนินคดีแก่โจทก์หรือไม่ ก็เป็นอำนาจหน้าที่ของพนักงานสอบสวน หาได้เกิดจากการกระทำของจำเลยโดยตรง กรณียังไม่พอฟังว่าจำเลยกระทำความผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่  1173/2539
ป.อ. มาตรา 86, 157, 172, 174 วรรคสอง
พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2528 มาตรา 4, 91
ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร ว่าด้วยการพาณิชย์ เรื่องสำ
ระเบียบกรุงเทพมหานคร ว่าด้วยการบริหารงานบุคคลของสำนักงานตลาด กรุงเทพมหานคร พ.ศ.2527 ข้อ 4, ข้อ 6
            ตั้งแต่วันที่ 23 มีนาคม 2532 ถึงวันที่ 6 ตุลาคม 2532 โจทก์ไม่ใช่ผู้เช่าแผงค้าตลาดมีนบุรีของสำนักงานตลาดกรุงเทพมหานคร แต่โจทก์ยังคงวางสินค้าที่แผงค้าตลาดมีนบุรีที่เคยเช่าและแผงค้าอื่นที่ไม่เคยเช่ารวมทั้งทางเดินในตลาดมีนบุรีด้วย จึงทำให้จำเลยที่ 1 เข้าใจว่าเมื่อการเช่าสิ้นสุดลงแล้วแต่โจทก์ยังวางสินค้าอยู่และจำเลยที่ 2 แจ้งให้โจทก์ขนย้ายทรัพย์สินออกไปแล้ว แต่โจทก์ไม่ยอม โจทก์จึงเป็นผู้บุกรุก และได้มอบอำนาจให้จำเลยที่ 3 ไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน
            ข้อความที่จำเลยที่ 3 ไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนตรงกับสภาพที่จำเลยที่ 2 ไปพบเห็นมาจึงเป็นเรื่องที่จำเลยที่ 3 แจ้งข้อความตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏ ส่วนการกระทำของโจทก์จะเป็นความผิดต่อกฎหมายตามที่จำเลยที่ 3 แจ้งหรือไม่ ไม่สำคัญ เพราะการแจ้งข้อความย่อมหมายถึงแจ้งข้อเท็จจริงไม่เกี่ยวกับข้อกฎหมาย หลังจากจำเลยที่ 3 ได้แจ้งต่อพนักงานสอบสวนแล้วพนักงานสอบสวนได้ดำเนินคดีแก่โจทก์ แม้ต่อมาพนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องโจทก์ ก็ยังถือไม่ได้ว่า ข้อความที่จำเลยที่ 3 แจ้งนั้นเป็นความเท็จ เมื่อข้อความที่จำเลยที่ 3 ผู้รับมอบอำนาจจากจำเลยที่ 1 แจ้งนั้นเป็นความจริง จำเลยที่ 1 ที่ 3 จึงไม่มีความผิดฐานแจ้งความเท็จ
            โจทก์บรรยายฟ้องเกี่ยวกับจำเลยที่ 2 ว่าจำเลยที่ 2 อ้างว่าเป็นผู้พบการกระทำความผิดของโจทก์ในข้อหาบุกรุกและได้ยื่นเรื่องราวต่อจำเลยที่ 1 ฟ้องโจทก์เกี่ยวกับการกระทำของจำเลยที่ 2 จึงมิใช่ให้ลงโทษจำเลยที่ 2 ฐานเป็นตัวการแต่เป็นเพียงผู้สนับสนุนเมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 3 ไม่มีความผิดฐานแจ้งความเท็จ จำเลยที่ 2 ก็ไม่มีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนในความผิดฐานแจ้งความเท็จด้วย
            จำเลยทั้งสามเป็นพนักงานของสำนักงานตลาดกรุงเทพมหานครซึ่งตามระเบียบกรุงเทพมหานครว่าด้วยการบริหารงานบุคคลของสำนักงานตลาดกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2527 ข้อ4 และข้อ 6 กำหนดให้ได้รับเงินเดือนจากงบประมาณรายจ่ายของการพาณิชย์ของกรุงเทพมหานครตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครเรื่องวิธีการงบประมาณ พ.ศ.2529 จำเลยทั้งสามจึงไม่ได้รับเงินเดือนจากงบประมาณหมวดเงินเดือนของกรุงเทพมหานคร ถือไม่ได้ว่ามีฐานะเป็นข้าราชการกรุงเทพมหานคร ดังนั้น จำเลยทั้งสามจึงไม่เป็นอยู่ในบังคับแห่งประมวลกฎหมายอาญา ภาค 2 ว่าด้วยความผิด ลักษณะ 2 ความผิดเกี่ยวกับการปกครอง หมวด 2 ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ การที่ศาลจะมีอำนาจลงโทษจำเลยในฐานความผิดหรือบทมาตราที่ถูกต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคห้า ได้นั้น จะต้องเป็นกรณีที่ข้อเท็จจริงตามฟ้องนั้นโจทก์สืบสมฟังได้ว่าจำเลยได้กระทำความผิดตามที่กล่าวในฟ้องจริง เพียงแต่โจทก์อ้างฐานความผิดหรือบทมาตราผิดไปเท่านั้น ทั้งจะต้องมิใช่เป็นเรื่องที่โจทก์อ้างตัวบทกฎหมายผิดเป็นคนละฉบับไปด้วย
            เมื่อในคดีนี้ข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ได้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ตามที่โจทก์ฟ้อง จึงไม่อาจลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 11 ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  4205/2529
ป.อ. มาตรา 172, 173, 174, 177
          การแจ้งความเท็จอันจะเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 172, 173 และ 174 นั้น ความเท็จที่แจ้งต้องเป็นข้อความที่เกี่ยวกับความผิดอาญา เมื่อจำเลยให้การต่อพนักงานสอบสวนว่า จำเลยเป็นผู้แนะนำนาง ส. ให้รู้จักกับโจทก์และสามีซึ่งเป็นความเท็จ เพราะจำเลยไม่เคยแนะนำให้โจทก์รู้จักกับนาง ส. และโจทก์ไม่เคยรู้จักกับนาง ส. ด้วยเท่านั้น จำเลยหาได้ให้การต่อพนักงานสอบสวนว่าโจทก์กระทำความผิดอาญา อันจะเป็นความผิดอาญาอันจะเป็นความผิดฐานแจ้งความเท็จ ตามบทกฎหมายที่โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยไม่ เพราะความเท็จที่แจ้งนั้นต้องเป็นข้อความที่เกี่ยวกับความผิดอาญา ดังนั้นการกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานแจ้งความเท็จ
          ส่วนการเบิกความเท็จอันจะเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 177 นั้น ความเท็จที่เบิกความต้องเป็นข้อสำคัญในคดี คือเป็นข้อความในประเด็นหรือที่เกี่ยวแก่ประเด็นอันอาจจะทำให้คู่ความถึงแพ้ชนะกันในประเด็นนั้นในคดีที่โจทก์คดีนี้ถูกฟ้องว่าฉ้อโกง ข้อสำคัญแห่งคดีมีว่า โจทก์ได้ทำการหลอกลวงผู้เสียหาย ทำให้ผู้เสียหายหลงเชื่อ แล้วมอบเงินให้โจทก์รับไปหรือไม่ ดังนั้น ที่จำเลยเบิกความในคดีดังกล่าวว่าจำเลยเคยแนะนำโจทก์ให้รู้จักกับผู้เสียหายนั้น ถึงหากจะเป็นความเท็จก็มิใช่ข้อสำคัญในคดี การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานเบิกความเท็จ