วันเสาร์ที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

การใช้ดุลยพินิจในการสั่งคดี ม.200

                สำนักงานอัยการสูงสุด ได้มีหนังสือที่ อส ๐๐๐๗(ปผ)/ว ๒๑๔ ลง ๑๘ มิ.ย.๒๕๕๘ เรื่องซักซ้อมความเข้าใจการใช้ดุลยพินิจสั่งคดีของพนักงานอัยการ โดยเห็นว่าการใช้ดุลยพินิจสั่งคดียังไม่ถูกต้อง ดังนี้
                ๑.  มีการนำข้อเท็จจริงนอกสำนวน เช่น ข้อเท็จจริงตามหนังสือร้องขอความเป็นธรรมของผู้ต้องหา หรือ เอกสารหลักฐานต่าง ๆ ที่ฝ่ายผู้ต้องหานำมามอบให้ มาพิจารณารับฟังเป็นพยานหลักฐานโดยไม่ผ่านการสอบสวนของพนักงานสอบสวน และนำมาอ้างเป็นเหตุผลในการใช้ดุลยพินิจสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหา
                    ในกรณีนี้ ถ้าพนักงานอัยการเห็นว่าการร้องขอความเป็นธรรมมีเหตุผลอันควรต้องพิจารณาข้อเท็จจริงตามคำร้อง ต้องสั่งให้พนักงานสอบสวนสอบคำให้การพยานบุคคลที่เกี่ยวข้องกับข้อเท็จจริง หรือพยานบุคคลที่เกี่ยวข้องกับเอกสารที่ผู้ร้องอ้างเป็นพยานหลักฐานเพื่อเป็นพยานหลักฐานในการสั่งคดี หรือส่งพยานมาให้ซักถาม และจะต้องพิจารณาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานในสำนวนการสอบสวน โดยมีอำนาจสั่งให้พนักงานสอบสวนดำเนินการสอบสวนเพิ่มเติมหรือส่งพยานมาให้ซักถาม ตาม ป.วิ.อ. ลักษณะ ๒ เรื่องการสอบสวน และระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุด ว่าด้วยการดำเนินคดีอาญาของพนักงานอัยการ พ.ศ.๒๕๕๗ ข้อ ๔๙, ๕๖, ๖๖ - ๗๐
              ๒.  ไม่เชื่อคำให้การของผู้เสียหายหรือพยานในสำนวนการสอบสวนโดยไม่มีเหตุผลหักล้างเพียงพอ แล้วนำมาเป็นเหตุพิจารณาสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหา
                   ในกรณีนี้ พนักงานอัยการต้องสามารถระบุเหตุผลที่นำมาหักล้างคำให้การของผู้เสียหายหรือพยานดังกล่าวได้ โดยต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานแห่งความสุจริตและเที่ยงธรรม ตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.องค์กรอัยการและพนักงานอัยการ พ.ศ.๒๕๕๓ มาตรา ๒๑ ,๒๒ และให้คำนึงถึงภารกิจและบทบาทของพนักงานอัยการ ตามที่กำหนดไว้ในระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุด ว่าด้วยการดำเนินคดีอาญาของพนักงานอัยการ พ.ศ.๒๕๕๗ ข้อ ๕ โดยเคร่งครัด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  ๓๕๐๙/๒๕๔๙
ป.อ. มาตรา ๑๕๗, ๒๐๐
ป.วิ.อ. มาตรา ๒ (๔) , ๑๕๘
               จำเลยรับราชการเป็นพนักงานอัยการ มีอำนาจหน้าที่วินิจฉัยสั่งคดีและดำเนินคดีอาญาเกี่ยวกับสำนวนการสอบสวนที่อยู่ในความรับผิดชอบของสถานีตำรวจ ส่วนโจทก์รับราชการเป็นข้าราชการตุลาการดำรงตำแหน่งผู้พิพากษา
              โจทก์ได้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน กล่าวหาบริษัท เป็นเจ้าของ และ ป. เป็นบรรณาธิการ ว่าร่วมกันหมิ่นประมาทโจทก์โดยการโฆษณาด้วยเอกสาร พนักงานสอบสวนดำเนินการสอบสวนแล้วมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องแล้วได้ส่งความเห็นพร้อมสำนวนการสอบสวนมายังพนักงานอัยการ
              จำเลยพิจารณาแล้วมีคำสั่งไม่ฟ้องบริษัท ส. และ ป. ที่ถูกกล่าวหาว่าหมิ่นประมาทโจทก์ โดยอ้างเหตุผลว่า ลักษณะการลงข่าวย่อยมีการพาดหัวข้อสั้น ๆ ส่วนเนื้อหาก็มีลักษณะเป็นการสรุปข่าวสั้น ๆ มิได้ตีพิมพ์อย่างเอิกเกริกหรือพาดหัวในหน้าหนึ่งให้ผิดปกติแต่อย่างใด และจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับการแจ้งความดำเนินคดีระหว่างผู้เสียหาย (โจทก์) กับ บ. ที่สถานีตำรวจ ก็ปรากฏว่ามีการแจ้งความซึ่งกันและกันตามข่าวจริง และในสำนวนการสอบสวนที่เกี่ยวข้องทั้งโจทก์และ บ. ก็ตกเป็นผู้ต้องหาจริง เพียงแต่โจทก์ซึ่งเป็นผู้พิพากษามิได้ถูกพนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาและสอบสวนคำให้การในฐานะผู้ต้องหาและมิได้ใช้ตำแหน่งประกันตัวไปตามข่าวที่เสนอเท่านั้น ลักษณะการลงข่าวทำให้เห็นได้ว่าเป็นการลงข่าวและคาดคะเนสรุปของข่าวว่าเป็นกรณีทั่ว ๆ ไปของการตกเป็นผู้ต้องหาเท่านั้น อีกทั้งไม่ปรากฏว่าผู้ต้องหาทั้งสองมีสาเหตุโกรธเคืองเรื่องใดกับโจทก์มาก่อน จึงไม่มีเหตุที่จะต้องแกล้งใส่ความโจทก์ในการพิมพ์โฆษณาเช่นนั้น
              ในฐานะพนักงานอัยการที่มีอำนาจวินิจฉัยสั่งคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา จำเลยย่อมมีอิสระที่จะใช้อำนาจวินิจฉัยสั่งการตามความเห็นของตนได้ โดยไม่มีการอ้างได้ว่าการใช้ดุลพินิจไปในทางใดเป็นการชอบหรือมิชอบ เพราะการใช้ดุลพินิจในกรณีเดียวกัน พนักงานอัยการอาจวินิจฉัยคดีไปคนละทางได้ ความถูกต้องเหมาะสมของดุลพินิจเป็นเรื่องของกลไกการตรวจสอบและถ่วงดุลดังที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาบัญญัติไว้ในมาตรา ๑๔๕ กำหนดว่า ในกรณีที่มีคำสั่งไม่ฟ้องและคำสั่งนั้นไม่ใช่ของอธิบดีกรมอัยการ ถ้าในนครหลวงกรุงเทพธนบุรี ให้พนักงานอัยการส่งสำนวนการสอบสวนพร้อมกับคำสั่งไม่ฟ้องไปเสนออธิบดีกรมตำรวจ รองอธิบดีกรมตำรวจหรือผู้ช่วยอธิบดีกรมตำรวจเพื่อพิจารณา เป็นต้น ในกรณีนี้ แม้การวินิจฉัยของพนักงานอัยการและการวินิจฉัยของอธิบดีกรมตำรวจ รองอธิบดีกรมตำรวจหรือผู้ช่วยอธิบดีกรมตำรวจจะแตกต่างกัน ก็เป็นเรื่องของความมีอิสระของแต่ละฝ่ายที่ไม่อาจถือได้ว่าการวินิจฉัยของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเป็นการมิชอบ
                อย่างไรก็ดี ความมีอิสระของพนักงานอัยการที่จะวินิจฉัยสั่งคดีนี้ มิใช่จะไร้ขอบเขตเสียทีเดียว ในฐานะเจ้าหน้าที่ของรัฐ การใช้ดุลพินิจวินิจฉัยสั่งคดีของพนักงานอัยการทุกคนจะต้องอยู่ภายใต้ขอบเขตของความชอบด้วยกฎหมาย หมายความว่า ถ้าการใช้ดุลพินิจของพนักงานอัยการคนใดเกินล้ำออกนอกขอบเขตดังกล่าว การใช้ดุลพินิจนั้นย่อมเป็นการไม่ชอบ แต่ถ้าการใช้ดุลพินิจดังกล่าวอยู่ภายในขอบเขตของความชอบด้วยกฎหมายแล้ว ภายในขอบเขตนี้ พนักงานอัยการจะวินิจฉัยสั่งคดีไปในทางใดก็ได้ ซึ่งความหมายของการใช้ดุลพินิจที่ชอบด้วยกฎหมายในที่นี้ คือ การใช้ดุลพินิจที่อยู่บนรากฐานของความสมเหตุสมผลที่วิญญูชนโดยทั่วไปยอมรับได้ว่ามิใช่เป็นการใช้ดุลพินิจตามอำเภอใจ หรือมีการบิดผันอำนาจนั่นเอง
               อนึ่ง เนื่องจากการวินิจฉัยสั่งคดีของพนักงานอัยการในชั้นนี้ มิใช่เป็นการวินิจฉัยว่าจำเลยมีความผิดหรือเป็นผู้บริสุทธิ์ดังเช่นกระบวนการพิจารณาพิพากษาคดีของศาล แต่เป็นเพียงการวินิจฉัยมูลความผิดตามที่กล่าวหาเท่านั้น ซึ่งเกณฑ์วินิจฉัยมูลความผิดของพนักงานอัยการที่วินิจฉัยสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องผู้ต้องหา คือ มีเหตุผลอันสมควรเพียงพอหรือไม่ที่จะนำผู้ต้องหาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมทางอาญาเพื่อให้ศาลวินิจฉัยชั้นสุดท้ายว่าผู้ถูกกล่าวหากระทำความผิดตามที่ถูกกล่าวหาหรือไม่
               การที่จำเลยวินิจฉัยสั่งไม่ฟ้องบุคคลดังกล่าว โดยอ้างเหตุว่าผู้ต้องหาทั้งสองไม่มีเจตนาหมิ่นประมาทโจทก์ เป็นการวินิจฉัยมูลความผิดแบบด่วนวินิจฉัยคดีเสียเอง ดุจเป็นการพิจารณาพิพากษาคดีของศาล กล่าวคือ มิได้ใช้เกณฑ์วินิจฉัยมูลความผิดอย่างพนักงานอัยการพึงใช้ การใช้ดุลพินิจของจำเลยกรณีนี้นับเป็นเรื่องผิดปกติวิสัยของพนักงานอัยการผู้สุจริตโดยทั่วไป จึงเป็นการใช้ดุลพินิจที่วิญญูชนโดยทั่วไปไม่สามารถยอมรับได้ว่ามิใช่เป็นการใช้ดุลพินิจตามอำเภอใจ แม้การวินิจฉัยสั่งคดีของจำเลยเป็นไปตามขั้นตอนที่กำหนด แต่เมื่อเป็นการใช้ดุลพินิจตามอำเภอใจเช่นนี้แล้วก็ถือไม่ได้ว่าจำเลยสุจริตใจดังที่จำเลยอ้าง
              โดยสรุปศาลฎีกาเห็นว่า การใช้ดุลพินิจวินิจฉัยสั่งคดีของจำเลยที่มีคำสั่งไม่ฟ้องหนังสือพิมพ์ ด. ซึ่งบริษัท ส. และ ป. ลงข้อความในหนังสือพิมพ์เป็นความเท็จ และก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ เป็นการใช้ดุลพินิจที่มิได้อยู่บนรากฐานของความสมเหตุสมผล แต่เป็นการใช้ดุลพินิจตามอำเภอใจ จึงเกินล้ำออกนอกของเขตของความชอบด้วยกฎหมาย และในฐานะที่จำเลยเป็นข้าราชการอัยการชั้นสูง จำเลยย่อมทราบดีถึงเกณฑ์วินิจฉัยมูลความผิดของพนักงานอัยการ การใช้ดุลพินิจผิดกฎหมายในกรณีนี้ จำเลยเห็นได้อยู่ในตัวแล้วว่า เป็นการมิชอบและมีเจตนาเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ซึ่งเป็นผู้เสียหาย อีกทั้งเพื่อจะช่วยบริษัท ส. และ ป. มิให้ต้องโทษจากการกระทำความผิดของตนอีกด้วย จำเลยจึงมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา ๑๕๗ และมาตรา ๒๐๐ วรรคหนึ่ง
               การกระทำของจำเลยที่เป็นความผิด คือ การใช้อำนาจในฐานะพนักงานอัยการสั่งไม่ฟ้อง ผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าหมิ่นประมาทโจทก์ ผลของการกระทำของจำเลยคือ โจทก์ในฐานะผู้เสียหายไม่ได้รับการเยียวยาตามกฎหมาย ดังนั้น โจทก์จึงเป็นผู้เสียหายจากการกระทำผิดของจำเลยโดยตรง โจทก์จึงเป็นผู้เสียหาย
              ตามฟ้องข้อ ๑ (ก) แม้ข้อความว่า "เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์" จะอยู่ต่อจากและติดข้อความว่า "...ผู้ต้องหาทั้งสองมีเจตนาหมิ่นประมาทใส่ความโจทก์" กล่าวคือ เมื่ออ่านรวมกันมีข้อความว่า "...ผู้ต้องหาทั้งสองมีเจตนาหมิ่นประมาทใส่ความโจทก์เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์" แต่การทำความเข้าใจข้อความในคำฟ้อง ต้องทำความเข้าใจในข้อความดังกล่าวประกอบข้อความส่วนอื่น ๆ ของคำฟ้องด้วย ซึ่งเห็นได้ว่าข้อความดังกล่าวเป็นข้อความสืบเนื่องจากการสั่งไม่ฟ้องคดีของจำเลยดังที่โจทก์บรรยายไว้อย่างชัดเจนในตอนต้น จึงเข้าใจได้อยู่ในตัวว่า ในการอ้างว่าจำเลยมีเจตนาพิเศษเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ โจทก์หมายถึงเจตนาที่สืบเนื่องจากการใช้อำนาจสั่งฟ้องคดีของจำเลย ฟ้องของโจทก์จึงชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา ๑๕๘ แล้ว